ส.อ.ท.แจงผลกระทบน้ำท่วม 20 จังหวัด คนงานว่างงานแล้ว 6.63 แสนราย สถานประกอบการเสียหาย 1.41 หมื่นแห่ง เตรียมเสนอรัฐ 3 ข้อ เพื่อบรรเทาปัญหา ทั้งการเลื่อนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การงดส่งเงินสมทบ 1 ปี และนำเงินกองทุนประกันสังคม 5.6 หมื่นล้านเยียวยา
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่มีต่อภาคธุรกิจไทย โดยระบุว่า ข้อมูลจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด เผยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม 663,218 คน และสถานประกอบการได้รับความเสียหาย 14,172 แห่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้สามารถเร่งฟื้นตัวและดำเนินกิจการ คงสภาพการจ้างงานต่อไปได้ภายหลังน้ำลด ดังนี้
1.ชะลอหรือเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ใน 7 จังหวัด และปรับขึ้น 40% จังหวัดอื่นๆ ในเดือนเมษายน 2555 ออกไป โดยให้มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2556 เนื่องจากผู้ประกบการที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัย และผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่อื่น แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอุทกภัยครั้งนี้ มีนจำนวนมาก ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 1 ปี
2.ยกเว้นการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 5% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ในช่วงระหว่างการปิดกิจการชั่วคราวและฟื้นฟู โดยที่ลูกจ้างยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม
และ 3.สนับสนุนผู้ประกอบการคงสภาพการจ้างงาน โดยขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณานำเงินจากกองทุนประกันสังคม ที่ดูแลเรื่องการว่างงาน ซึ่งมีวงเงินยู่ 55,680 ล้านบาท มาจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงปิดกิจการและฟื้นฟู เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยไม่ต้องมีการเลิกจ้าง
อย่างไรก็ตาม การปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากภาวะน้ำท่วมโรงงานเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ไม่สามารถป้องกันได้ กฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างในระหว่างกิจการ
ทั้งนี้ หากมีการเลิกจ้างต้องจ่ายชดเชยตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา118 แต่ขณะนี้มีหลายกิจการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในการจ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% หรือ 50% ในช่วงที่หยุดงาน ซึ่งผู้ประกอบการอาจช่วยเหลือได้แค่ 1-2 เดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดการผลิตและความเสียหายจากน้ำท่วม