xs
xsm
sm
md
lg

TDRI ห่วงนโยบายเงินเดือน 1.5 หมื่น ทำเด็กอาชีวะแห่ต่อ ป.ตรี อื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ ห่วงนโยบายเงินเดือน ป.ตรี 1.5 หมื่นบาท เพิ่มค่านิยมเด็กอาชีวะแห่เรียน ป.ตรี มากขึ้น การแข่งขันสูง ส่งผลบัณฑิตตกงานพุ่ง ชี้ ต้องปรับโครงสร้างเงินเดือน ขรก.ทั้งระบบ เหตุไม่เป็นธรรมกับ ขรก.เดิม ด้านเพื่อไทยแจงต้องการลดช่องว่างระหว่างเงิน เดือนแรกเข้ากับ ขรก.ระดับสูง พร้อมดันแผนเพิ่มสัดส่วนอาชีวะ เน้นสายช่างมากกว่าสายสามัญ ถกผู้ประกอบการ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเงินเดือน ปวช.-ปวส.ให้สูงขึ้น เชื่อ ทำให้ ป.ตรี ไม่ล้นตลาด

วันนี้ (28 ก.ค.) รศ.ดร.ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงนโยบายการปรับเงินเดือนบัณฑิตใหม่จบปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นต่อเดือนของรัฐบาลชุดใหม่ ว่า จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของแผนการพัฒนากำลังคนของประเทศ จะทำให้มีเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีตกงานมากขึ้น   เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานในส่วนของภาคเอกชนมีความต้องการใช้แรงงานที่มีวุฒิปริญญาตรีแค่ 5%  ขณะที่จำนวนบัณฑิตที่ตกงานเฉลี่ยอยู่ 1 แสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ 70% เป็นบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ เชื่อว่า นโยบายนี้จะทำให้โครงการสร้างกำลังคนของประเทศมีความบิดเบือนมากยิ่งขึ้น
 

“เมื่อนโยบายเรื่องนี้ออกมา จะยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เด็ก ม.ปลาย และ อาชีวะ หันไปเรียนต่อปริญญาตรีมากยิ่งขึ้น เพราะมองเห็นถึงรายได้ที่มั่นคง จากที่ผ่านมา ปัญหาค่านิยมเรียนต่อปริญญาตรีของเด็กไทยนั้น มีมากอยู่แล้ว  ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยในไทยที่มีประมาณ 160 แห่ง ต่างเปิดสอนคณะและสาขาวิชาซ้ำซ้อนกัน นโยบายนี้จะยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานมากยิ่งขึ้น  บัณฑิตที่ตกงานโดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์นั้น หน่วยงานราชการควรดึงบัณฑิตกลุ่มนี้ไปเป็นครู อาจารย์สอนในระดับ ปวช.และปวส.  หรือสอนวิชาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ในโรงเรียน   ทั้งนี้  นโยบายนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเตรียมการรองรับ” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

          
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า   หากจะปรับเงินเดือนแรกเข้าของหน่วยงานราชการเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน  จะ มีผลกระทบทำให้ต้องปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ เนื่องจากปรับแค่เงินเดือนแรกเข้า จะไม่ยุติธรรมกับข้าราชการเดิม ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนจะต้องมีการคัดเลือกคนเข้าทำงานที่เข้มข้นขึ้น เพราะรับคนได้น้อยลง เนื่องจากต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ทำให้โอกาสที่บัณฑิตปริญญาตรีจะตกงานมีเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงตลาดแรงงานระดับปริญญาตรีจะแคบลง อย่างไรก็ตาม ระยะยาวจะส่งผลเสีย ทำให้รัฐสูญเปล่าด้านงบประมาณในการผลิตบัณฑิต แต่ก็จะมีผลดีต่อตลาดแรงงานระดับกลางที่มีความต้องการรับผู้จบวุฒิ ปวช.และ ปวส.เพราะจะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้นโดยผู้ที่จบปริญญาตรีที่ตกงานจะยอมลดวุฒิมา ใช้วุฒิ ปวช.และ ปวส.สมัครงาน
     

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช   ทองโรจน์    ผู้ร่างนโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่พรรคมีนโยบายเงินเดือนแรกเข้า ป.ตรี 1.5 หมื่นบาท เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าสู่ระบบราชการเงินเดือนน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ กว่าจะได้เงินเดือนที่สูงก็อายุมากแล้ว อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้จะดำเนินการในกลุ่มของข้าราชการที่บรรจุใหม่ จะไม่ครอบคลุมไปถึงข้าราชการระดับสูง เพราะได้รับเงินเดือนสูงอยู่แล้ว จะทำให้ช่องว่างเงินเดือนข้าราชการแรกเข้ากับสุดท้ายแคบลง
      
ทั้งนี้   นโยบายด้านการศึกษาของเพื่อไทย มีแผนที่จะปรับการผลิตอัตรากำลังคนให้สอดคล้องกับ ความต้องการของประเทศ โดยจะมีการเชิญสถานประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันอุดมศึกษา มาหารือร่วมกันในเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กที่จบ ม.3 เรียนต่อ ม.ปลาย และอาชีวะ อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 60 ต่อ 40 ซึ่งจะต้องขยับสัดส่วนเด็กเรียนอาชีวะให้สูงขึ้น
   

โดยเฉพาะในส่วนของสายช่างสาขาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเรียนน้อย ส่วนใหญ่จะเรียนอาชีวะสายสามัญ เช่น บริหารธุรกิจ ขณะที่สถานประกอบการต้องการแรงงานอาชีวะสายช่างมากกว่า รวมถึงปรับสัดส่วนการผลิตบัณฑิตระหว่างสายสังคมศาสตร์ กับสายวิทยาศาสตร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 70 ต่อ 30 มาเป็น ร้อยละ 60 ต่อ 40

“ปัจจุบันเด็กอาชีวะมีค่านิยมเรียนต่อปริญญาตรีอยู่แล้ว โดยเด็กจบ ปวช.เข้าสู่ตลาดแรงงานแค่ 50% ที่เหลือไปเรียนต่อปริญญาตรี เชื่อว่า นโยบายนี้จะไม่ไปซ้ำเติมปัญหาปริญญาตรีล้นตลาด เพราะต่อไปอาชีวะจะมีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา และจะเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ทำให้เด็กอาชีวะเรียนต่อถึงปริญญาตรีได้ และได้รับค่าจ้างสูงขึ้นและมีความก้าวหน้าในการทำงาน  

          
อย่างไรก็ตาม    พรรคจะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อให้ปรับเงินเดือนผู้ที่จบ ปวช.และ ปวส.สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคกำลังหารือกัน เพื่อจูงใจให้เด็กเรียนสายอาชีวะ และเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น” ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช  กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น