xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรม-ห้างฯโคราชโอดแบกภาระหนัก - จี้ รบ.“เผาไทย” คิดให้ดีขึ้นค่าแรง 300

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกงกฤช  หิรัญกิจ
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โรงแรม-ห้างฯท้องถิ่นรายใหญ่โคราช โอดนโยบายค่าแรง 300 รัฐบาล “เผาไทย” กระทบหนักภาคอีสานต้องแบกภาระปรับขึ้นกว่า 40% เผย ค่าจ้างเป็นต้นทุนประกอบการถึง 15-20% แนะรัฐบาลวางแผนให้ดีทยอยปรับขึ้นทยอยปรับขึ้นอย่างมีระบบ พร้อมทุ่มงบพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถแรงงานไทย หวั่นเป็นปัญหากับประเทศในระยะยาว

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเจ้าของ โรงแรมสีมาธานีโรงแรมระดับ 5 ดาว จ.นครราชสีมา กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทของรัฐบาลใหม่พรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เพราะผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่อื่นได้เหมือนโรงงานผลิตสินค้า จะเกิดอะไรขึ้นก็ยังต้องประกอบธุรกิจอยู่สถานที่นั่นๆ

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท นั้น ในบางพื้นที่โดยเฉพาะในภาคอีสาน เท่ากับเพิ่มค่าจ้างมากถึงเกือบ 40% ซึ่งอัตราค่าจ้างแรงงานเป็นต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการประมาณ 15-20% ฉะนั้น การปรับขึ้นไปถึง 40% ย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแน่นอน

นายกงกฤช กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าแรงให้กับผู้ใช้แรงงานนั้นเป็นเรื่องที่ดี และมีความเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจเป็นการไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 300 บาทภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน รัฐต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถของผู้ใช้แรงงานด้วย เพื่อให้มีขีดความสามารถที่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่ได้รับ 300 บาทด้วย

“ไม่ใช่ดูเพียงด้านเดียว คือ การปรับเพิ่มแต่เฉพาะค่าจ้างขึ้น ในเรื่องการพัฒนาฝีมือของแรงงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้มีความสัมพันธ์กับค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาดูถึงการพัฒนาทักษะ สมรรถนะ ความสามารถของบุคลากรที่จะเข้าสู่ตลาดแรงาน เพื่อให้คุ้มค่าที่ผู้ประกอบการต้องทุนเพิ่มเติม มิฉะนั้น ก็จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรากำลังเปิดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีอย่างนี้ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่าเราล้วนแล้วแต่มีขีดความสามารถทักษะของผู้ประกอบอาชีพสูงกว่าเราทั้งนั้น หากเราขึ้นแต่ตัวเลขค่าจ้างโดยไม่เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทย ผมคิดว่าจะเป็นปัญหากับประเทศในระยะยาว” นายกงกฤช กล่าว

นายกงกฤช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการประมวลผลสรุปแนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้เคยมานำเสนอกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ไว้ และจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมของภาคเอกชนที่จะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ สิ่งสำคัญคือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ อยากเห็นเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และแยกตามกลุ่มท่องเที่ยวของประเทศออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวไทยขาดแคลน และเสื่อมโทรมไปเป็นอันมาก

“การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมือนกับบางประเทศเพื่อนบ้านเราในอัตราก้าวกระโดดเราจำเป็นต้องเพิ่มแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนั้น คงต้องดูแลในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง ขณะนี้เท่าที่สำรวจนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะมีการติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตตรงนี้ทำให้การคมนาคมจำเป็นต้องมีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวก” นายกงกฤช กล่าว

ด้าน นายไพจิตร มานะศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เจ้าของ “คลังพลาซ่า” ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นรายใหญ่ของ จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงเรื่องเดียวกัน ว่า มีผลในทั้ง 2 ด้าน คือ ในด้านดีทำให้ประชาชนมีกำลังในการซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสินค้าของห้างฯ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่อีกด้านหนึ่งต้องส่งผลกระทบแน่นอน เพราะผู้ประกอบการต้องเพิ่มต้นทุนการจ้างแรงงานขึ้นอีก

คลังพลาซ่า มีพนักงานทั้งหมดทุกสาขาประมาณ 1,000 คน การปรับเงินเดือนต้องปรับใหม่ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เข้ามาทำงานใหม่เท่านั้น ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำของ จ.นครราชสีมา อยู่ประมาณวันละ 183 บาท การปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ต้องปรับขึ้นอีกกว่า 40% ฉะนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควรที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระนี้

การปรับค้าจ้างถือเป็นเรื่องที่ดี ในส่วนของ คลังพลาซ่า เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับค่าจ้างขึ้น แต่รัฐควรปรับอย่างมีระบบ หรือปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างปรับตัวได้ทัน เพราะหากปรับในทันทีผู้ประกอบการก็แย่ เนื่องจากค่าจ้างเป็นต้นทุนหลัก

“รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องทำให้ได้ตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน หากทำไม่ได้ตามที่พูดไว้ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพียงแต่การดำเนินการต้องวางแผนให้ดี อาจกำหนดเป็นขั้นตอนไว้ เช่น จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี เป็นต้น เชื่อว่าผู้ประกอบการรับได้เพราะมีเวลาในการปรับตัว ในส่วนของผู้ใช้แรงานเองคิดว่าน่าจะเข้าใจ และภาครัฐต้องหาเงินมาใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าแรงในภาคราชการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการเช่นกัน” นายไพจิตร กล่าว
นายไพจิตร มานะศิลป์
กำลังโหลดความคิดเห็น