สธ.เร่งแก้ไข 3 ปัญหาผลกระทบจากความเจริญพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลาง ทั้งเรื่องวัยรุ่นตั้งครรภ์ คนแก่ ผู้พิการขาดคนดูแลช่วงกลางวัน และโรคจากการทำงาน
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมรับฟังผลการดำเนินงานของเขตตรวจ ราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ 1 ที่ รพ.สระบุรี เมื่อเช้าวันนี้ (20 ก.ค.) ว่า พื้นที่เขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ 1 เป็นจังหวัดภาคกลางที่เป็นพื้นที่พิเศษและพื้นที่เฉพาะ ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ส่งผลให้มีอัตราเพิ่มขึ้นของประชากรสูงที่สุดในประเทศ โดยมีประชากรในพื้นที่ตามทะเบียนราษฎรรวมประมาณ 6 ล้านคน และมีประชากรต่างถิ่นและต่างด้าวเดินทางไปทำงานอีกเกือบ 2 ล้านคน
นพ.ไพจิตร์ กล่าว ว่า จากการประเมินสภาพการจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าจำนวนแพทย์มีเพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ระบบลดความแออัดโรงพยาบาลใหญ่ โดยกระจายบริการขึ้นพื้นฐานถึงชุมชนหมู่บ้าน เพื่อตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทั่วๆ ไป มีอาการไม่หนัก ซึ่งร้อยละ 60 ไม่จำเป็นต้องไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ พบว่า ได้ผลดี ประชาชนส่วนใหญ่มีความศรัทธาและเชื่อมั่นคุณภาพบริการ
สำหรับผลกระทบที่พบตามมาในพื้นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ พบว่า มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังและนอนพักฟื้นอยู่บ้าน ขาดผู้ดูแลในช่วงกลางวัน เนื่องจากคนหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกบ้าน กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อขยายผลพื้นที่อื่นๆ ประเด็นที่ 2 คือ ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาแม่และเด็กและความมั่นคงของชาติ โดยแม่วัยรุ่นจะกลายเป็นแรงงานราคาถูกในอนาคต เนื่องจากมีการศึกษาต่ำ และอาจทำให้ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอชไอวี กามโรค เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการป้องกัน และ 3.การจัดระบบดูแลรักษาโรคจากการประกอบอาชีพ ทั้งเรื่องการได้รับสารพิษจากภาคเกษตรกรรม การบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี พัฒนารูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากในพื้นที่มีสถานประกอบการมากประมาณ 15,000 แห่ง โรงงาน 2,900 แห่ง มีประชากรต่างถิ่นอพยพใช้แรงงาน 5 แสนคน
“ทั้งนี้ ผลการศึกษาแม่วัยรุ่นในโรงพยาบาล 8 แห่งใน จ.นนทบุรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 พบหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรรวม 145 คน คิดเป็นร้อยละ 18 ของหญิงคลอดบุตรทั้งหมด อายุน้อยสุด 14 ปี ส่วนสามีอายุเฉลี่ย 22.5 ปี น้อยที่สุด คือ 16 ปี โดยร้อยละ 40 ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ และร้อยละ 60 มีรายได้ไม่เพียงพอส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง สำนักงานาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหา โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษา และมีอาชีพที่มั่นคง เนื่องจากเด็กตั้งครรภ์ส่วนใหญ่กำลังเรียนระดับมัธยมศึกษา และทำหลักสูตรเพศศึกษาปีละ 16 หน่วยกิต จัดบริการดูแลเด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็กให้ฟรี และจัดตั้งกลุ่มงานภารกิจพิเศษ โดยรวมงานเอดส์ ความรุนแรงในครอบครัว และกลุ่มวัยรุ่น ดูแลปัญหาเหล่านี้เป็นพิเศษ” นพ.ไพจิตร์ กล่าว