xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ชี้เยียวยาเกษตรกรน้ำท่วมเป็นหลัก ใช้มาตรการตัดจ่ายผู้เสียหาย 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” รื้อวิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสมัยรัฐบาล ปชป.ใหม่ เบื้องต้นเยียวยาเกษตรกรเป็นหลัก ใช้มาตรการตัดจ่ายผู้เสียหาย 100% ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ขยายประตูระบายน้ำเข้า-ออก สั่ง “ก.ศึกษาฯ-สธ.-มท.” ดู “เสอเพลอโมเดล” ส่วนภาคใต้ “ยงยุทธ” ดูแลใกล้ชิด

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้สัมภาษณ์  

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุดรธานี ว่า จากการลงพื้นที่นั้นได้ไปดู 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องโมเดลการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวร ซึ่งในส่วนของ อ.เมือง จ.อุดรฯ ที่เกิดน้ำท่วมก็จะดูว่าเราสามารถเพิ่มเติมต่อยอดจากเดิมได้อย่างไร โดยมีการพูดคุยเพิ่มเติมในเรื่องของการขยายประตูระบายน้ำเข้าออก จากการระบายน้ำใน อ.เมือง ออกไปยังแม่น้ำโขง และอีกส่วนหนึ่งเราถือโอกาสไปดูโครงการเสอเพลอโมเดล ที่ ต.เสอเพลอ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะโมเดลที่เป็นของภาคการศึกษา ร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และทางชุมชนหมู่บ้าน ที่จะมีการเพิ่มโมเดลในเรื่องการศึกษาของเด็กเล็ก ซึ่งปกติการศึกษาของเด็กเล็กจะขาดรอยต่อระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ อบต.เดิมที อบต.จะดูแลเด็กเล็กถึง 6 ขวบ ส่วนกระทรวงศึกษาฯจะดูแลเด็กโตเป็นต้นไป ซึ่งตนมองว่าต้องมีการบูรณาการในเรื่องของการทำงานร่วมกัน เพื่อเชื่อมต่อไปยังเด็กแรกเกิด

“อย่างวันนี้ในชุมชนเสอเพลอได้มีการทำงานร่วมกัน และมีส่วนร่วมระหว่างผู้ปกครองกับครูอาสาเข้าไปช่วยเหลือในท้องที่นี้ ก็น่าชื่นชมว่ามีหน่วยงานนี้ในการทำงานร่วมกันเพื่อเด็กและเยาวชนที่แท้จริง”

ผู้สือข่าวถามว่า คาดว่าโครงการเสอเพลอโมเดล จะเริ่มได้เมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ที่ ต.เสอเพลอ ได้เริ่มโมเดลนี้แล้ว ในส่วนของอำเภอก็ได้มาอธิบายให้ทราบ เมื่อเราเห็นโมเดลก็รู้สึกชื่นชม และจะฝากเรื่องนี้ไว้กับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ในการบูรณาการป้องกันและหารือดูแลภาคการศึกษาและการพัฒนาของเด็กเล็ก

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ได้รับรายงานหรือไม่ และจะมีการช่วยเหลืออย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ภาคใต้มีการติดตามสถานการณ์ และทางด้าน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้รับผิดชอบก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อถามว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมจะใช้มาตรการเดิมที่รัฐบาลที่แล้วทำไว้ คือช่วยเหลือ 5,000 บาท สำหรับผู้ที่น้ำท่วมขังเกิน 7 วัน หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เบื้องต้นเราเยียวยาในภาคเกษตรกรรมและพืชไร่ ซึ่งในวันนี้เราได้มีการประกาศชดเชยเป็น 2,222 บาท ต่อไร่ ในส่วนของตนเองได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการหามาตรการตัดจ่ายต่างๆ สำหรับผู้ที่เสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายถึงผู้ที่เสียหายมานานแล้ว ก็คงต้องเร่งมาตรการนี้ และในส่วนอื่นๆ ก็กำลังทยอยมาจากกระทรวงมหาดไทย

ส่วนจะมีการจ่ายเงินเยียวยาทันทีเหมือนรัฐบาลเก่าที่ทำมาหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตรงนี้คงต้องขอพิจารณาใหม่ทั้งหมด เพราะสมัยก่อนก็ยังไม่มีการตัดจ่าย ต้องเรียนว่า ที่ผ่านมาพูดแต่หลักการ แต่ยังไม่เคยมีการตัดจ่าย เพราะมีเรื่องน้ำท่วมถึง 3 ครั้งแล้ว จึงต้องไปดูทั้งระบบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้มีการฝากหลักการไว้และกระทรวงมหาดไทยได้รับเรื่องไปแล้วจะนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางรัฐบาลระบุว่าจะช่วยทันทีโดยไม่ต้องรอน้ำลด ตรงนี้เงินจะสามารถถึงมือผู้ที่ประสบภัยได้เมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องของมาตรการน้ำลดเราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ มาตรการในส่วนที่เราเห็นว่ามีความเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์จากเอกสารประกอบ เช่น ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมต่างๆ ซึ่งต้องมีการพิจารณาจากหลายๆ ฝ่ายแล้วและเป็นที่แน่นอน เราก็สามารถตัดจ่ายได้ ในบางส่วนเรายังมีงบประมาณฉุกเฉินเหลืออยู่บ้างแต่จำนวนไม่มาก ทั้งนี้จากนโยบายเก่าคงต้องรอน้ำลดก่อนก็ใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 เดือน ในส่วนของตนเอง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเร่งให้การตัดจ่ายเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะมีการช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่เกษตรที่เสียหายใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มีพื้นที่เกษตร การเลี้ยงสัตว์และพืชไร่ ซึ่งเงิน 2,222 บาท คือ ในส่วนพื้นที่ปลูกข้าวพื้นที่เกษตร และยังมีอีกหลายส่วนที่กระทรวงเกษตรฯกำลังทยอยประกาศอยู่ เมื่อถามว่า จะลงพื้นที่ภาคใต้ด้วยตนเองหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หากมีอะไรจะแจ้งให้ทราบ เพราะตนอยากไปทุกพื้นที่ที่มีปัญหาเดือดร้อน ตนอยากลงไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารและวิธีการแก้ไขต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น