xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ยกเลิก TOR ซื้อเราท์เตอร์ ร.ร.7.7 พันแห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.เตะถ่วงยกเลิกทำ TOR จัดซื้อเราท์เตอร์ให้ ร.ร.7,700 แห่ง “ชินภัทร” แจงไม่ได้ระบุรายชื่อ ร.ร.ทั้งหมดไว้ชัดเจนเกรงส่งผลต่อการประเมินราคาที่รวมทั้งค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้ง เผย หารือกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ แหล่งข่าวใน สพฐ.เผย ก่อนหน้ามีการเมืองแทรกแซงขอล็อกสเปกให้บริษัทหนึ่งที่เข้าร่วมประมูลชนะ แฉค่าคอมมิชชันสูงถึง 200 ล้านบาท จากงบประมาณ 480 ล้าน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ยกเลิกการทำ TOR เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เราท์เตอร์ หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และมีผลให้ต้องยกเลิกการประมูลจัดซื้อเราท์เตอร์ให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.จำนวน 7,700 โรงตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติเห็นชอบให้ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ National Education network : NED.Net ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี (2554-2556) ซึ่งในปี 2554 ได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อเราท์เตอร์จำนวน 480 ล้านบาท ให้แก่โรงเรียนจำนวนดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ สกอ.ได้รับงบประมาณไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 SP2 จำนวน 2,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2553 สกอ.ได้เริ่มวางโครงการข่าย NED.Net ไปยังสถาบันอุดมศึกษาและเชื่อมต่อไปถึงโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ประมาณ 3,000 โรงในระยะแรก ต่อมาเมื่อ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเพิ่มไปยังโรงเรียนสังกัด สพฐ.อีก 7,700 โรง ซึ่งวางเป้าหมายว่าให้ครอบคลุมโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่ง สพฐ.ได้ทำ TOR พร้อมสเป็คขึ้นมาแล้ว

“ในส่วนของสเปกนั้นมีความชัดเจนโปร่งใสไม่มีการล็อกสเปก แต่เนื่องจากใน TOR ของโครงการไม่ได้แนบรายชื่อโรงเรียนทั้ง 7,700 โรงเข้าไปด้วย เพียงกำหนดคร่าวๆ ว่า เป็นการจัดซื้อเราท์เตอร์ ให้โรงเรียนจำนวน 7,700 โรงเท่านั้น ขณะที่ในงบประมาณดังกล่าวจะต้องรวมค่าจัดซื้อเครื่องและค่าบริการติดตั้งลงไปด้วย เพราะฉะนั้นหากไม่แนบรายชื่อโรงเรียนลงไป เราก็จะไม่ทราบที่ตั้งที่แน่ชัดว่าโรงเรียนมีระยะใกล้ไกลเพียงใด ซึ่งถ้ารู้ที่ตั้งของโรงเรียนจะทำให้ไม่สามารถประเมินราคาได้ใกล้เคียงความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม สพฐ.จึงได้ปรึกษากรมบัญชีกลางเห็นว่าควรจะยกเลิก TOR พร้อมยกเลิกการประมูลไปก่อน เพื่อให้เวลา สพฐ.จัดทำ TOR อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยแนบรายชื่อโรงเรียน 7,700 โรง เข้าไปด้วยจากนั้นค่อยดำเนินการประมูลอีกครั้ง”นายชินภัทร กล่าว

แหล่งข่าวภายใน สพฐ.เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองพยายามเข้ามากดดันให้ สพฐ.จัดทำสเปกเราท์เตอร์และเปิดประมูลโดยเอื้อให้บริษัทแห่งหนึ่งที่จะเข้าร่วมประมูลสามารถชนะการประมูล และมีกระแสข่าวว่าตัวเลขค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวสูงถึง 200 ล้านบาทจากตัวเลขงบประมาณทั้ง 480 ล้านบาท โดยบริษัทที่ต้องการชนะการประมูลดังกล่าวได้ประสานงานผ่านทางคนสนิทของฝ่ายการเมือง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการยุบสภาไปก่อนที่ สพฐ.จัดให้มีการประมูลเกิดขึ้น ต่อมาระยะหลังโครงการดังกล่าวก็มีการชะลอการจัดซื้อไว้จนที่สุดมีการยกเลิกทำ TOR ครั้งนี้ออกไป เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถจัดซื้อภายใต้รัฐบาลรักษาการได้ทันแน่นอนต้องรอดูในรัฐบาลหน้าต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น