สธ.เผย จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปี 54 ป่วยแล้วกว่า 23,000 ราย ห่วงช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ซึ่งเป็นฤดูฝนจะมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่เสี่ยงมากสุด
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นฤดูกาลการระบาดของโรคไข้เลือดออก ประชาชนมีความเสี่ยงป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะ 2 กลุ่มเสี่ยงที่มีอันตรายสูง คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เนื่องจากไม่สามารถบอกอาการตัวเองได้ และกลุ่มของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อาจมีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่แล้ว สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2554 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน จำนวน 23,324 ราย ผู้ป่วยที่พบกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ร้อยละ 52 อยู่ในกลุ่มอายุ 10-24 ปี พบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ป่วยจำนวน 647 ราย ส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ป่วย 190 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 13 ราย
จากการสอบสวนโรค พบว่า ทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 80 ถูกยุงลายในบ้านกัด ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทุกปี จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะสูงที่สุดในรอบปี กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการดำเนินการ 2 เรื่องหลัก คือ 1.การดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายขาด ป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ได้กำชับให้แพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดตรวจผู้ป่วยทุกวัยอย่างละเอียด และ 2.มาตรการป้องกันโรค เน้นวิธีการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะผู้ที่นอนกลางวัน และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งที่อยู่ในภายในบ้านและรอบๆ บ้านทุก 7 วัน
ด้าน ศ.คลินิก พญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า เชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ โดยกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น อาการป่วยของโรคไข้เลือดออกที่มีลักษณะพิเศษต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ ไข้สูงติดต่อกัน 2-7 วัน แต่มักไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหล เด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะดูแลยาก เด็กบางรายจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวร่วมด้วย ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่าเด็กมีปัญหาลำไส้อักเสบ และเด็กยังบอกอาการไม่ได้ จึงต้องอาศัยการสังเกตอาการป่วยเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนมีโรคหลายโรคที่มีอาจมีอาการใกล้เคียงกับไข้เลือดออก เช่น โรคฉี่หนู โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ โรคดังกล่าวจะเริ่มจากมีไข้สูง ยาลดไข้ที่แนะนำให้ใช้ได้ คือ พาราเซตามอล ให้กินเฉพาะเวลาที่มีไข้สูง ถ้าไข้ไม่ลงให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา และให้ดื่มน้ำเกลือแร่มากๆ ยาลดไข้ที่ห้ามใช้ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยาที่มีฤทธิ์ลดไข้บรรเทาอาการปวดเมื่อย เช่น บรูเฟน ยาที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากยาดังกล่าวระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง หากเป็นไข้เลือดออกอาจทำให้เสียชีวิตได้