นศ.ป.บัณฑิต 5 คน ได้ลุ้นอนุมัติจบการศึกษา หลังตรวจสอบพบเรียนจริง ฝึกงานจริง แต่ที่ประชุมยังกังขาเรื่องคุณภาพมอบ อธ.มอส.ไปหาวิธีประเมินคุณภาพเป็นรายบุคคลก่อนฟันธงภายหลัง ขณะที่ “กำจร-ขจร” งานเข้าผู้รับใบอนุญาต ส่งหนังสือคัดค้านระบุไม่เป็นกลางขอให้ออกจาก คกก.ควบคุม แต่ที่ประชุมลงมติลับเสียงเอกฉันท์ให้ทำหน้าที่ต่อ พร้อมเตรียมนัด ผู้รับใบอนุญาต ร่วมประชุม 20 ก.ค.นี้หาทางออกเยียวยานักศึกษา
ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุม (มอส.) ว่า เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง มอส.ได้มอบอำนาจให้ทนายความส่งหนังสือคัดค้านถึงตน และ นายขจร จิตสุขุมมงคล นิติกร สกอ.ว่า ไม่มีความเป็นกลางและขอไม่ให้เป็นคณะกรรมการควบคุม มอส.ต่อไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางการปกครอง จำเป็นที่จะต้องนำเข้าที่ประชุมพิจารณา
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เนื้อหาการคัดค้านตามเอกสาร ระบุว่า นายกำจร ตติยกวี มีพฤติกรรมขาดความเป็นกลาง โดยได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในวันที่ 31 พ.ค.2554 ว่า มอส.กระทำความผิดจำนวนมาก รวมถึงกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ ซึ่ง สกอ.จะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ดังกล่าว และอาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของ มอส.ต่อไป โดยการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวถือเป็นการเลือกให้ข้อมูลในด้านลบที่สร้างความเสื่อมเสียแก่ มอส.เพียงด้านเดียว แทนที่จะให้ข้อมูลที่เป็นกลางเกี่ยวกับการทำหน้าที่กรรมการควบคุม แสดงว่า นายกำจร ขาดความเป็นกลางและแสดงตัวเป็นคู่กรณีโดยตรงกับ มอส.ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ มอส.ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมติ หรือคำสั่งของคณะกรรมการควมคุม มอส.ในอนาคตได้
ขณะที่ในส่วนของ นายขจร ระบุว่า มีพฤติกรรมกรรมขาดความเป็นกลางโดยเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก สกอ.ในการร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 28 พ.ค.2554 เพื่อดำเนินคดีกับ มอส.ในข้อหากระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา แสดงว่า นายขจร ขาดความเป็นกลาง และเป็นคู่กรณีกับ มอส.ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ มอส.ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมติ หรือคำสั่งของคณะกรรมการควบคุม มอส.ในอนาคตได้
“ได้ชี้แจงเหตุต่อที่ประชุมผมให้สัมภาษณ์ในฐานะโฆษกของคณะกรรมการควบคุม มอส.และไม่เคยใช้ความคิดเห็นส่วนตัวและไม่เคยพาดพิง หรือระบุว่า ผู้ใดยักยอกทรัพย์ หรือระบุว่า สั่งเพิกถอน เพราะไม่มีอำนาจการให้ข้อมูลเป็นไปตามหน้าที่ ส่วนนายขจร ก็ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การรับมอบอำนาจจาก สกอ.ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น เป็นการแจ้งข้อหากระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงประชาชน เฉพาะบุคคลไม่ได้แจ้งความ มอส.และการดำเนินการต่างๆ ก็เป็นไปตามหน้าที่ ซึ่งภายหลังชี้แจง ผม และนายขจร ได้ออกจากห้องประชุม เพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณาตามกฎหมายซึ่งจะต้องลงคะแนนเสียงในทางลับ แต่ภายหลังทราบว่าที่ประชุมมีมติให้เอกฉันท์ให้ผม และนายขจรทำหน้าที่ต่อ” รศ.นพ.กำจร กล่าว
กรรมการควบคุม มอส.กล่าวต่อว่า อธิการ มอส.ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติจบหลักสูตร ป.บัณฑิต ให้กับนักศึกษาจำนวน 5 ราย ที่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการควบคุม มอส.กำหนดให้กลับมายืนยันข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ มอส.ถูกรื้อค้นข้อมูลส่งผลให้การรวบรวมข้อมูลนักศึกษาล่าช้ามากขึ้น ทำให้ขณะนี้รวบรวมได้เพียง 5 รายดังกล่าว ซึ่งเรียนนอกสถานที่ตั้ง แต่ตรวจสอบแล้วว่ามีการจ่ายเงินจริง เรียนจริง ครบถ้วน เพียงแต่คณะกรรมการควบคุม มอส.มีข้อกังขาเรื่องมาตรฐานคุณภาพ อาจไม่เป็นตามที่ สกอ.กำหนด ดังนั้น ที่ประชุมมีมติ ให้อธิการบดี มอส. ไปตรวจสอบ โดยอาจหาวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยวัดผลกรณีพิเศษเฉพาะรายบุคคล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า บัณฑิตเหล่านี้มีคุณภาพ
นอกจากนี้ นายอานนท์ เที่ยงตรง ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหานักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร บัณฑิตวิชาชีพครู ยังได้รายงานการตรวจสอบปัญหา พบว่า ไม่เฉพาะ ป.บัณฑิต แต่ในระดับปริญญาโท มีปัญหาทั้งหมด โดยการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ สกอ.ส่วนปริญญาตรี ยังไม่มีการรายงาน
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับหนังสือรายงานจากอธิการบดี มอส.แจ้งการถูกโจรกรรมทรัพย์สินและเอกสารของ มอส.ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ค.2554 เวลาใดไม่ทราบแน่ชัดมีบุคคล (ไม่ทราบว่าเป็นใคร) เข้ามาในอาคารสำนักงานอธิการของ มอส.ได้งัดกุญแจห้องทำงานและนำโต๊ะพร้อมเก้าอี้ทำงานออกไปจากห้อง ซึ่งปรากฏว่า มีโต๊ะทำงานของอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ถูกโจรกรรมทั้งสิ้น 5 ราย ซึ่งส่งผลให้เอกสารที่เกี่ยวข้องในความรับผิดชอบสูญหายไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เช่น เกรดนักศึกษา เอกสารการประกันคุณภาพ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากหลักสูตร ป.บัณฑิต เป็นต้น และยังมีทรัพย์สินที่เสียหาย เช่น กล้องวงจรปิดบริเวณชั้นล่างทางขึ้นอาคารหาย
นอกจากนี้ อธิการ มอส.ระบุในหนังสือด้วยว่า มีการกล่าวในลักษณะข่มขู่จากบุคคลที่รับทราบกันภายในมหาวิทยาลัยว่าเป็นบุคคลของผู้ใด ว่า ให้ระวังตัวจะอยู่ขอนแก่นไม่ได้ หรือให้ออกจากหอพักในมหาวิทยาลัย ซึ่งอธิการ มอส.ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจย่อยบ้านทุ่มแล้ว อีกทั้ง เหตุการณ์โจรกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้ามีการงัดประตูห้อง รศ.ชูชาติ อารีจิตรานุสรณ์ และขโมยสมุดบัญชีเงินฝากไป อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้กระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก เพราะเป็นการคุกคามและไม่ควรเกิดในสถาบันอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมอบให้อธิการบดี มอส.เข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัยตรวจตราทั้งภายนอกและภายในอาคาร ซึ่งจะยังไม่ถึงขั้นต้องใช้วิธีอารักขาแบบเข้ม
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า คณะกรรมการควบคุม มอส.จะนัดประชุมอีกครั้ง 20 ก.ค.2554 เวลา 14.00 น.ซึ่งในครั้งต่อไปจะทำหนังสือเชิญผู้รับใบอนุญาตเข้าร่วมประชุมเพื่อเจรจา หาทางออกร่วมกัน ว่า จะช่วยเหลือการจัดการศึกษาของนักศึกษาต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าผู้รับใบอนุญาตมาร่วมประชุม และให้ความร่วมมือเชื่อว่า การแก้ปัญหาจะเดินต่อไปได้ แต่กรณีปฏิเสธความร่วมมือ ทางคณะกรรมการควบคุมฯ ก็คงต้องรีบตัดสินใจ เพราะว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งตนก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมแล้วว่า การดำเนินการของคณะกรรมการควบคุมฯ มาขนาดนี้ได้ใช้งบประมาณของ มอส.ตามกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้ยืดเยื้อเกินไปก็จะเป็นประเด็นที่ทำให้กู้สถานการณ์ไม่ไหวเหมือนกัน