xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยยูเอ็นเตรียมถกผู้นำกว่า 190 ปท.แก้ปัญหาโรคจากวิถีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์ วราชิต
    ปลัด สธ.เผยองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาโรคจากวิถีชีวิตหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  เนื่องจากกำลังกลายเป็นปัญหารุนแรงระดับโลก กำหนดถกผู้นำกว่า 190 ประเทศทั่วโลกกลางเดือนกันยายนปีนี้ที่สหรัฐอเมริกา ส่วนไทยชูแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทยแก้ปัญหา และโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนฯ  ตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันโรคทุกจังหวัด
 

          วันนี้ (11 ก.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุม นพ.สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ  และนักวิชาการสาธารณสุข   เพื่อมอบนโยบายและวางทิศทางการควบคุมป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อ เรื้อรังที่เป็นปัญหาของประเทศอย่างเป็นระบบ ตามโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554   

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคไม่ติดต่อ หรือโรคจากพฤติกรรมวิถีชีวิต กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกนำหน้าโรคติดต่อที่มีเชื้อโรคเป็นตัว การและจะทวีความรุนแรงมากในกลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2548 ปีเดียว ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคจากวิถีชีวิตมากถึง 35ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 58 ล้านคน หากไม่เร่งแก้ไข คาดว่าในปี 2558 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 หรือประมาณ 41 ล้านคน   เป็นปัญหาระดับโลก   และ เป็นหัวข้อสำคัญในที่ประชุมองค์การอนามัยโลกและล่าสุดองค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญ และกำหนดประชุมผู้นำประเทศกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ในการประชุมสหประชาชาติ ในกลางเดือนกันยายนนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา   นับเป็นประเด็นสุขภาพเรื่องที่สาม ถัดจากโรคเอดส์และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ถูกนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ

          นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถูกมองว่าเป็นปัญหาของประเทศที่เจริญแล้ว  เป็น โรคของคนรวย ซึ่งความจริงแล้ว โรคไม่ติดต่อเรื้อรังจะเป็นปัญหาหนักในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาขาดความพร้อมในการดูแลรักษาและการป้องกันโรคแทรก ซ้อนที่จะตามมา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคเหล่านี้สูงมาก เฉพาะในส่วนของประเทศไทย แต่ละปีเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ 5  โรคได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองและมะเร็ง ตกปีละเกือบสองแสนล้านบาท จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่สำคัญโรคเหล่านี้ยังมีผลทำให้เกิดผู้ป่วยอัมพาตหรือพิการเพิ่มมากขึ้นด้วย  จึงต้องเร่งหามาตรการป้องกันควบคุมที่เหมาะสม

         นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้นำยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทย เป็นแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยได้จัดทำโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนฯ เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ระหว่างพ.ศ.2552-2554 เป้าหมายหลักคือการตรวจคัดกรองหาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคนซึ่งมีประมาณ 45 ล้านคน   ขณะนี้สามารถคัดกรองโรคเบาหวานได้เกือบ 21 ล้านคน  พบผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ร้อยละ 15  หรือ 3.1 ล้านคน  โดยแยกเป็นกลุ่มเสี่ยงจะป่วย 1,710,521 คน  เป็นผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 353,189 คน และป่วยรายเก่ามาอยู่แล้ว 1,070,737 คน ในจำนวนนี้มีโรคแทรกซ้อนด้วยร้อยละ 10 มากที่สุดคือตาต้อกระจก รองลงมาคือ แผลที่เท้าและไตวาย                 
                                     

ส่วนโรคความดันโลหิตสูง  ตรวจคัดกรองไปแล้ว 21 ล้านกว่าคน  เป็นกลุ่มที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติและเสี่ยงจะป่วย 2.4 ล้านคน  เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 651,867  คน และป่วยรายเก่า 1.5 ล้านคน   ในจำนวนนี้ตรวจพบโรคแทรกซ้อนร้อยละ 6  อันดับ 1 คือ โรคหัวใจรองลงมาคือเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก และไตวาย

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะต้องอาศัยการทำงานร่วมหลายหน่วยงาน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในระดับบุคคล  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทุกจังหวัด  โดย มีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นพ.สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขาคณะกรรมการ ดำเนินการเรื่องฐานข้อมูล ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงาน รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานเป็นรูปธรรม   และชุดคณะกรรมการแก้ไขระดับจังหวัดและอำเภอ  โดยให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานทุกๆเดือน  มั่น ใจว่า จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ผล เพราะไทยมีโครงสร้างการสาธารณสุขที่ดี โดยมีสถานบริการสาธารณสุข ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งมีอาสาสมัครสาธารณสุขกำลังสำคัญทำงานกับเจ้าหน้าที่ในชุมชน  โดยโครงการนี้ใช้เป็นแนวทางควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ต่อไป 
กำลังโหลดความคิดเห็น