ปลัดสธ.พอใจคลินิก 4 มุมเมือง ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ลดความแออัดผู้ป่วยนอก ในโรงพยาบาลใหญ่ได้ผลดีประชาชนได้รับบริการรวดเร็วขึ้น
วันนี้ (24 มิถุนายน 2554)ที่โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่อยู่ในภาคตะวันออก 4 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพื่อติดตามนโยบายการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในปี 2554 และให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน จากนั้นลงตรวจเยี่ยมคลินิกสาขาตรวจรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลระยอง ที่สาขาเนินพระ และสาขาตะพง เพื่อ ลดความแออัดการใช้บริการที่โรงพยาบาลระยอง
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออก มีประชาชน 2 ล้าน 6 แสนกว่าคน มีสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 524 แห่ง โดยในปี 2555-2559 มีแผนพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 3 แห่งคือ รพ.ชลบุรี รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี และรพ.ระยอง ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาเด็กแรกเกิด ดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน และผู้ป่วยโรคหัวใจ รองรับการรักษาผู้ป่วยใน 4 จังหวัด และพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน 79 แห่ง ให้มีศักยภาพมีขีดความสามารถดูแลผู้ป่วยในพื้นที่สูงขึ้น ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ได้ขยายบริการผู้ป่วยนอก ลดความแออัดภายในโรงพยาบาล โดยเพิ่มบริการที่คลินิก 4 มุมเมือง ซึ่งตั้งอยู่นอกโรงพยาบาล พบว่าได้ผลดี ประชาชนได้รับบริการรวดเร็วขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดระยองซึ่งมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่วนใหญ่ประกอบการด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระทรวงฯได้จัดทำแผนพัฒนาโรงพยาบาลระยองเป็นศูนย์เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ และทารกแรกเกิด เป็นศูนย์พิษวิทยาภาคตะวันออก และศูนย์ดูแลด้านจิตเวชฉุกเฉิน ขณะนี้ได้พัฒนาระบบริการผู้ป่วยนอก เพื่อลดความแออัดที่โรงพยาบาลระยอง โดยเปิดคลินิก 4 มุมเมือง 4 แห่ง ที่เนินพระ ตะพง จันทอุดม และคลินิกอบอุ่นเทศบาลระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลฯประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นจุดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเพิ่ม มีแพทย์ให้บริการเหมือนที่โรงพยาบาล หากมีผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษา จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลระยอง เมื่อคลินิกดังกล่าวดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลระยอง โดยประชาชนสามารถใช้บริการที่คลินิก 4 มุมเมืองแทน จะทำให้โรงพยาบาลระยองเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งแรกในประเทศ ที่รองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่มีแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลศูนย์ คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาประมาณ 2 ปี
นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ครอบคลุมร้อยละ 80 ของผู้รับบริการทั้งหมด โดยเฉพาะประชากรที่มีรายได้ระดับปานกลาง และระดับล่าง ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดทำแผนพัฒนาสถานบริการให้ชัดเจน เพื่อให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ และอาจเปิดให้เกิดการลงทุนร่วมระหว่างรัฐเอกชน ซึ่งจะลดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐลง เรื่องที่ 2 พัฒนาคุณภาพบริการ โดยโรงพยาบาลทุกแห่งต้องผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชน และเรื่องที่ 3 ให้ทุกจังหวัดเร่งป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาในไทยและในระดับโลก เป็นสาเหตุการตายคนทั่วโลกร้อยละ 60-70 จะต้องดำเนินการแก้ไขป้องกันอย่างจริงจังเชื่อมโยงส่วนกลางกับจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชนไม่ให้เจ็บป่วย