xs
xsm
sm
md
lg

โอนสิทธิ์รักษาผู้ประกันตนเข้าบัตรทองส่อแววล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน
บอร์ดประกันสังคม ชี้ โอนสิทธิ์รักษาพยาบาลผู้ประกันตนเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขัดมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุ รัฐควรจ่ายสมทบ ตัวแทนนายจ้างเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองก่อน 10 ก.ค. วอนออกคำสั่งยกเลิกให้ สปสช.เรียกเก็บเงิน สปส.โอดเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ ว่า ที่ประชุมได้หารือในรายละเอียดการโอนสิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน ไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลอยู่ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องโอนงบค่าบริการรักษาพยาบาลเป็นเงินปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ให้แก่ สปสช.เป็นเวลา 3 ปี ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าการโอนผู้ประกันตนไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย สปสช.เก็บค่าบริการรักษาพยาบาลจาก สปส. อาจจะขัดต่อมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และที่ประชุมยังเห็นว่า รัฐน่าจะจ่ายเงินสมทบค่าบริการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประกันตน ซึ่งเงินส่วนนี้จะโอนให้ สปสช. ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความในเรื่องนี้ต่อไป

นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล กรรมการประกันสังคม กล่าวว่า การโอนสิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วน หน้านั้น สปสช.ยึดตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง สปสช.ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่กลับจะมาเรียกเก็บเงินค่าบริการรักษาพยาบาลจากผู้ประกันตนที่ต้องจ่าย เงินสมทบ ขณะที่บอร์ด สปส.เห็นว่า ควรยึดตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ควรเรียกเก็บเงินจาก สปส.เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน

           
“ผมในฐานะตัวแทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน จะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ก่อนวันที่ 10 ก.ค.นี้ เพื่อให้พิจารณาออกคำสั่งให้ สปสช.เลิกเรียกเก็บเงินค่าบริการรักษาพยาบาลจาก สปส.เนื่องจากเป็นการขัดต่อมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” นายประสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น