สพฐ.เตรียมปูพรมดัน ร.ร.ในสังกัดทุกระดับ เรียนและสอนแบบ Bilingual วิชาหลักคณิต วิทย์ หวังเพิ่มคุณภาพการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย ขณะที่เลขาธิการ กพฐ.ระบุหลักสูตรภาษาอังกฤษปัจจุบันมีชั่วโมงเรียนน้อยมาก ระดับประถมแค่สัปดาห์ละ 1 คาบ ไม่เพียงพอพัฒนาเด็กไทย
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.มีโครงการที่จะผลักดันให้โรงเรียนในสังกัดทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนมัธยมศึกษา จัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา ไทยคู่อังกฤษ หรือที่เรียกว่า English Bilingual Education (EBE) โดยหวังว่าวิธีดังกล่าวจะช่วยให้การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษประสบความสำเร็จเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษที่ใช้อยู่มีชั่วโมงเรียนจำกัดมาก โดยระดับประถมศึกษาเรียนภาษาอังกฤษเพียงสัปดาห์ละ 1 คาบ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเด็กได้ ซึ่งจากการส่งนักวิชาการของ สพฐ.ไปดูงานที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศสเปน เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาเรื่องเวลาเรียนด้วยการหันไปจัดการเรียนการสอนวิชาทั่วไป เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา เป็นภาษาอังกฤษ ด้วย ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กได้พัฒนาฟัง พูด เขียนภาษาอังกฤษ และพบว่า การสอนแบบ EBE นั้น เป็นวิธีพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้เด็กที่มีประสิทธิภาพ
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ดังนั้น สพฐ.จะมอบให้สถาบันภาษาอังกฤษ ไปศึกษาและยกร่างแผนผลักดันให้โรงเรียนในสังกัดจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual) โดยจะทยอยเริ่มจากโรงเรียนที่มีความพร้อม และให้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงเรียนที่จะเลือกจัดการเรียนวิชาใดเป็นภาษาอังกฤษ แต่เน้นวิชาคณิต วิทย์ และสังคมศึกษา อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนแบบ Bilingual ในโรงเรียนของ สพฐ.นั้น จะมีความแตกต่างจากหลักสูตร English Program (EP) ซึ่งจะแยกชั้นเรียนออกจากหลักสูตรปกติและเก็บค่าธรรมเนียมในราคาสูง เริ่มต้นตั้งแต่ 35,000 บาทต่อเทอม และมีข้อกำหนดต่าง ๆ ออกมาเพื่อรักษามาตรฐานของการจัดการเรียนการสอนพร้อมป้องกันโรงเรียนเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น กำหนดให้ทุกวิชาต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้น ภาษาไทย และต้องมีครูชาวต่างชาติตามเกณฑ์ที่กำหนด
“หลักสูตร Bilingual นั้น เด็กทุกคนจะได้อานิสงส์โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม และให้โอกาสโรงเรียนเลือกสอนวิชาที่พร้อมเป็นภาษาอังกฤษ บางวิชา อาจสอนเป็นภาษาอังกฤษบางส่วนได้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีครูชาวต่างชาติ แต่อาจใช้วิธีพัฒนาครูไทยให้สามารถจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษแทน ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ก็มีหลักสูตรอบรมครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ โดยเริ่มอบรมครูของโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่ม Education Hub ไปแล้ว และจะมีการขยายผลโดยเร็วต่อไป”นายชินภัทร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สพฐ.ยังดำเนินโครงการจัดจ้างครูชาวต่างชาติจำนวน 350 คน มาประจำโรงเรียนในสังกัดอยู่ เพียงแต่เห็นจำนวนครูต่างชาติที่ สพฐ.สามารถจัดหามาได้นั้น ห่างไกลจากตัวเลขโรงเรียนในสังกัดกว่า 30,000 โรงอยู่มาก จึงต้องเร่งพัฒนาครูไทยให้สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้คู่ขนานไปด้วย