xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯถกชิ้นส่วนรถฯ3พ.ค.นี้ รับมือลดกำลังผลิตตามค่ายรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ก.อุตฯนัดหารือชิ้นส่วนรถยนต์ 3 พ.ค.หาทางรับมือค่ายรถลดกำลังผลิต 50% ถึงมิ.ย. เตรียมเปิดหลักสูตรอบรมอุ้มแรงงานไม่ให้ถูกปลด ผู้ประกอบการชิ้นส่วนประเมินลดกำลังการผลิต 4-12 เดือน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 3 พ.ค. ได้นัดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของไทยมาร่วมหารือถึงผลกระทบจากกรณีที่ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นไม่สามารถส่งเข้ามาในไทย จนทำให้ค่ายรถยต์ต้องลดกำลังการผลิตลง50% ว่าจะมีผลกระทบต่อแผนการผลิตชิ้นส่วนฯมากน้อยเพียงใด รวมถึงการประเมินถึงการจ้างงานด้วย

“ ชิ้นส่วนที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะต้องติดตามว่าจะกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนกว่า 4.25 แสนคนอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะต้องฝึกอบรมพนักงานช่วงนี้ไปก่อน”นายวิฑูรย์กล่าว

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กล่าวว่า กสอ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านแรงงาน ผ่านโครงการฝึกอบรม เพิ่มศักยภาพแรงงาน โดยจะมีลักษณะคล้ายกับโครงการต้นกล้าอาชีพที่อบรมแรงงานให้พร้อมต่อการทำงาน โดยกสอ.จะทำงานประสานกับสถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันยานยนต์และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ให้ความรู้แต่ละด้าน

ทั้งนี้ในการหารือกับผู้ประกอบการชิ้นส่วนในวันที่ 3 พ.ค.น่าจะทราบถึงตัวเลขของแรงงานที่ต้องนำมาอบรมที่ชัดเจน เบื้องต้นการอบรมต่อแรงงาน 1 คน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 บาท หากอบรมประมาณ 5,000 คนจะใช้งบราว 50 ล้านบาท ส่วนจะดึงงบประมาณจากส่วนไหนมานั้นต้องหารือกับนายวิฑูรย์อีกครั้ง ซึ่งแรงงานที่เข้าร่วมอบรมจะไม่ถูกปลดจากงานแน่นอนเพราะผู้ประกอบการมีบทเรียนเมื่อปี’50 ว่าหากปลดแล้วจะหาแรงงานทดแทนยาก จึงต้องรักษาคนงานไว้

นายประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะประชุมหารือเพื่อสรุปตัวเลขความเสียหายที่ได้รับจากการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประกาศลดกำลังการผลิตลง 50% ว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นคาดว่ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์คงต้องลดกำลังการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วง 4-12เดือนนี้ลงอย่างน้อย 50-70%ตามกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากนั้นคงต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะสามารถฟื้นกำลังการผลิตกลับขึ้นมาท่าเดิมได้ทันทีหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น