xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักอีกโรคหนึ่งพึงระวัง “ปลอกประสาทอักเสบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากบนลงล่าง) เส้นประสาทมัยอิลอยปกติ,เริ่มผิดปกติ,อักเสบ
เอ่ยถึงโรค “MS” ที่ย่อมาจากชื่อเต็มว่า Multiple Sclerosis และในชื่อไทย “โรคปลอกประสาทอักเสบ” เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นหู บางคนถึงกับไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรทำความรู้จักเพราะกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และในปัจจุบันแพทย์จะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่เกิดและไม่มีการรักษาให้หายขาด

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งในฐานะประธานชมรม “เอ็มเอสไทย” และในฐานะผู้ป่วยซึ่งเคยผ่านความทุกข์ทรมานจากโรคปลอกประสาทอักเสบนี้เองด้วย ได้ให้ความรู้ถึงโรคนี้ว่า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบประสาทส่วนกลาง โดยเบื้องต้นทราบว่าภูมิของร่างกายจะทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาทให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เส้นประสาทจากสมองส่วนต่างๆ เสียไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย

“ตามปกติเซลประสาทที่สมองและไขสันหลังของมนุษย์จะมีปลอกหุ้ม อธิบายง่ายๆ คือเหมือนสายไฟที่มีฉนวนป้องกันไม่ให้ชอต คือถ้าเปลือกฉนวนชำรุด การนำไฟฟ้าก็จะมีปัญหา เปรียบกับปลอกประสาท เมื่ออักเสบก็จะส่งผลทำให้มีปัญหาทำให้การสั่งการของสมองไปไม่ถึงปลายทาง”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าวต่อไปว่า โรคเอ็มเอสนี้เกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย ถ้าเกิดที่เส้นประสาทของดวงตาจะทำให้ตาพร่า ปวดตาเวลามอง ถ้ารุนแรงก็ถึงตาบอด ถ้าเกิดกับประสาทสัมผัสก็จะทำลายความรู้สึกร้อนหนาว แล้วอาจเกิดอาการเจ็บแปล๊บๆ เหมือนไฟชอต หรือส่งผลออกมาในรูปแบบของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาตได้ และอันตรายมากหากเกิดกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวใจ ระบบชีพจร ที่ส่งผลให้ระบบดังกล่าวไม่ทำงานและเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมถึงระบบขับถ่ายที่เมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย และหมดความรู้สึกทางเพศได้

“ในรอบ 10 ปีเราตรวจพบมากขึ้น เป็นโรคที่เกิดนานแล้ว ไม่ใช่โรคใหม่ แต่สมัยก่อนระบุไม่ได้เพราะไม่มีการตรวจวินิจฉัยที่ดีพอ ตอนนี้มีการทำ MRI คือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ระบุได้ว่าเป็นโรคนี้ได้อย่างชัดเจนกว่าเดิม ส่วนใหญ่เราพบผู้ป่วยเอ็มเอสในวัยทำงาน คือ 20-40 ปี แต่ก็มีพบบ้างในวัยเด็กกว่าหรือแก่กว่านั้น ซึ่งผู้ป่วยที่เด็กกว่าหรือแก่กว่า 20-40ปี เมื่อป่วยแล้วอัตราความรุนแรงของโรคและความอันตรายจาก โดยผู้หญิงเสี่ยงเป็นมากกว่าผู้ชายในอัตรา 3.7 ต่อ 1 คน”

ศ.พญ.สุวรรณาให้ความรู้อีกว่า แม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าโรคนี้เกิดได้อย่างไร แต่ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่อาจจะทำให้กลุ่มคนต่อไปนี้ เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเอ็มเอสมากกว่าคนปกติ คือกรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ป่วยด้วยโรคเอ็มเอส, ผู้ที่อยู่ในประเทศโซนหนาวเสี่ยงกว่าโซนร้อนและผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อมาก่อน

“ผู้ป่วยโรคนี้จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเป็นอย่างอ่อน คือ เป็นทีเดียวแล้วหายขาดเลย และไม่ปรากฏโรคอีก และแบบที่สอง คือ แบบรุนแรง เป็นครั้งแล้วแล้วแรงเลย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแบบสองมากกว่า รวมทั้งตัวเองด้วย สำหรับกรณีตัวหมอเองสาเหตุที่เป็นน่าจะเพราะก่อนหน้าที่จะเป็นไม่นาน ป่วยเป็นไข้หวัด ไข้สูงมาก แล้วหลังจากหายป่วยไม่นาน ก็เป็นแบบแรงเลย หนแรกเป็นปุ๊บก็ได้ยากลุ่มเสตียรอยด์ทันที ทำให้อาการดีขึ้นเร็วมาก ต่อมาอีก 2 เดือนมีอาการชาที่เท้า อาการน่ากลัวเหมือนกัน เพราะเป็นซ้ำในเวลาอันรวดเร็ว ก็รักษา เมื่อรักษาดีขึ้นก็ยังต้องฉีดยาอยู่ ต้องฉีดสัปดาห์ละ 3 วัน ระยะแรกหลังการรักษาต้องดูแลใกล้ชิด ทำ MRI สมองทุก 6 เดือน ตอนนี้เป็นมา 12 ปี แล้วก็ยังไม่หยุดยา จริงๆ ตำราบอกว่าหยุดยาได้ภายใน 2-5 ปี แต่เท่าที่รู้ผู้ป่วยทุกคนยังไม่มีใครกล้าหยุด หมอก็ยังไม่หยุด เพราะกลัวกำเริบขึ้นมาอีก โรคนี้ต้องฉีดยาเพื่อคุมไว้ ไม่หายขาด”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ทิ้งท้ายด้วยว่า โรคดังกล่าวเป็นโรคที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงควรระวังและสังเกตตัวเอง หากเกิดอาการผิดปกติจะได้ไปพบแพทย์ได้ทัน โดยโรคนี้หากมีอาการ แพทย์ที่ควรไปพบ คือ แพทย์ระบบประสาทวิทยา

และเนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่สามารถเบิกจ่ายยารักษาซึ่งมีราคาสูงจากประกันระบบใดๆ ได้ เว้นแต่สิทธิข้าราชการ ทำให้ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเดือนละประมาณ 40,000 บาท ซึ่งถือว่าหนักมาก มูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงจัดตั้งชมรมเอ็มเอสเพื่อหาทุนช่วยเหลือค่ารักษาแก่ผู้ป่วยยากไร้ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่ธ.ไทยพาณิชย์ สาขา รพ.รามาธิบดี บัญชีออมทรัพย์ 026-4-26671-5 ชื่อบัญชีมูลนิธิรามาธิบดี (เอ็มเอสไทย)
ภาพเปรียบเทียบมัยอิลอยปกติและอักเสบ




ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์
กำลังโหลดความคิดเห็น