xs
xsm
sm
md
lg

โรคมือ เท้า ปาก ระบาด 3 เดือน ป่วยแล้ว 598 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรมควบคุมโรค เตือนช่วงปิดเทอมระวังโรคมือ เท้า ปาก ย้ำ ผู้ปกครอง-ศูนย์เด็กเล็ก ดูแลอย่างใกล้ชิด หลังพบผู้ป่วยแล้ว 598 ราย ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ปี

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองและศูนย์เด็กเล็กดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หลังพบผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก ใน 3 เดือนแรกของปีถึง 598 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องคอยสังเกตอาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้

วันนี้ (25 มี.ค.) นายแพทย์ มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่กำลังปิดเทอมในขณะนี้ ผู้ปกครองบางท่านอาจต้องดูแลเด็กเล็กเอง หรือฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็ก  และศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน  ซึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังอย่างมากสำหรับเด็ก ก็คือ โรค มือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  โดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้

ส่วนสถานการณ์ของโรค มือ เท้า ปาก  จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 มีนาคม 2554) พบผู้ป่วยแล้ว จำนวน 598 ราย จาก 64 จังหวัด  ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึง 544 ราย และจังหวัดที่พบมากสุด 3 อันดับ คือ จังหวัดระยอง จำนวน 4.74 ต่อแสนประชากร  จังหวัดเชียงราย จำนวน 377 ต่อแสนประชากร  และจังหวัดตาก จำนวน 289 ต่อแสนประชากร

นายแพทย์ มานิต กล่าวว่า โรค มือ เท้า ปาก  เป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง และแทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย  ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  สมองอักเสบ  อัมพาต  กล้ามเนื้ออ่อนแรง  หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้  เพราะฉะนั้นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์เด็กเล็กต้องคอยสังเกตอาการของโรค  ดังนี้  หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย  เริ่มด้วยการมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย  ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ 

ส่วนการติดต่อเกิดจากเชื้อเข้าสู่ปากโดยอาจติดจากมือที่ปนเปื้อน อุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย หรืออาจเกิดจากการไอจามรดกัน การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย และโรคนี้ไม่ติดต่อโดยการหายใจ

“ส่วนการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย  ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือหลังขับถ่าย  ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และใช้ช้อนกลาง 

ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์เด็กเล็กต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย   หากพบเด็กมีอาการป่วยต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ  และหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์  กระทรวงสาธารณสุข  โทรศัพท์ 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นายแพทย์ มานิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น