xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเสี่ยงโรคปลอกประสาท MS กรรมพันธุ์-วัยทำงาน ไม่หายขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์
แพทย์รามาฯ เผยข้อมูลโรค MS หรือปลอกประสาทอักเสบ อันตรายถึงชีวิต หากเป็นแบบรุนแรง ระบุกลุ่มเสี่ยงเพศหญิง วัย 20-40 ปี กรรมพันธุ์ และมีประวัติป่วยติดเชื้อ ไม่หายขาดได้แค่ควบคุมอาการ

วันนี้ (22 มิ.ย.) ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะประธานชมรมเอ็มเอสไทย กล่าวถึงสถานการณ์โรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis) หรือ โรคปลอกประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่ประเทศไทยตรวจพบมากขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาว่า

โรคดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบประสาทส่วนกลาง โดยจะทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาทให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เส้นประสาทจากสมองส่วนต่างๆ เสียไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งนี้ หากเกิดขึ้นบริเวณประสาทตา จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาพร่า ปวดตา และตาบอด หรือหากเกิดขึ้นที่ประสาทสัมผัส จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา ไม่สามารถรับความรู้สึกต่างๆ ได้ นอกจากนี้ หากเกิดขึ้นที่ประสาทกล้ามเนื้อ ยังมีผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ และเป็นอัมพาต และที่น่ากลัวที่สุด หากเกิดกับระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานการเต้นชีพจร ระบบหายใจ ระบบการเต้นของหัวใจ จะเป็นอันตรายถึงชีวิต

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปกติแล้วโรคดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในประเทศเขตหนาว โดยพบในประเทศไทยน้อยมาก แต่ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ พบผู้ป่วยเฉลี่ย 1 คนต่อประชากร 1,000 คน ส่วนในประเทศไทย พบผู้ป่วย 4 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยจำนวนนี้ร้อยละ 3-5 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
เส้นประสาทเส้นบนคือเส้นประสาทปกติ ในขณะที่เส้นล่างคือเส้นประสาทผิดปกติในโรคเอ็มเอส
“สาเหตุการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด รวมทั้งยังไม่มีวิธีรักษาที่หายขาด ทำได้แค่ใช้ยาควบคุมอาการ แต่ก็มีบางกลุ่มที่เป็นชนิดอ่อนๆ คือ เป็นครั้งเดียว อาการไม่มาก แล้วไม่ปรากฏอาการอีกเลย แล้วก็มีกลุ่มที่มีอาการมาก หาย แล้วเป็นซ้ำใหม่ แต่ก็มียาที่ควบคุมอาการได้ โรคนี้โดยพบในกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 20-40 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงเสี่ยงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3.7 ต่อ 1 คน นอกจากนี้ ยังพบในประเทศโซนหนาวและมีประวัติติดเชื้อมาก่อน” ศ.พญ.สุวรรณากล่าว

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันการวินิจฉัยทำได้ด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) แต่เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด จึงยังไม่มีการป้องกัน หากรักษาทันจะหยุดอาการของโรคได้ แต่ไม่หายขาด วิธีที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพโดยทั่วไป ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่สำหรับผู้ป่วย แนะนำให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผัก ข้าวกล้องและลดไขมันสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงอากาศร้อนและการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก เนื่องจากจะกระตุ้นความอักเสบของเส้นประสาทให้รุนแรงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น