คกก.กองทุนยา สิทธิข้าราชการ ยื่นหนังสือค้าน คลังออกำสั่งคืนสิทธิ์เบิกจ่ายกลูโคซามีน ด้านคณะทำงานวิชาการ เผย กรณี นพ.ยศ ลาออกนั้น เป็นแค่การตัดสินใจส่วนตัว ยังไม่มีหนังสือการลาออกชัดเจน ชี้เหตุอยากออกเพราะรับไม่ได้กับ มติคลัง
แหล่งข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังออกหนังสือ ให้คืนสิทธิการเบิกจ่ายยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม (กลูโคซามีน) แก่กองทุนข้าราชการสวัสดิการเหมือนเดิมนั้น และมีกระแสข่าวว่า นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ 1 ในคณะกรรมการชุดนี้ได้ตัดสินใจถอนตัวออกนั้น ล่าสุด ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดงานแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งการคืนสิทธิการเบิกจ่ายดังกล่าว
เนื่องจาก คณะกรรมการบริหารฯ ได้ออกคำสั่ง ให้คณะอนุกรรมการได้ทำการศึกษาทบทวนรายการยากลุ่มบรรเทาอาการข้อเสื่อม ซึ่งตามขั้นตอนต้องส่งเรื่องกลับเข้าคณะกรรมการบริหารฯก่อน แต่ยังไม่มีการกำหนดวาระการประชุมแต่อย่างใด ฉะนั้นคำสั่งดังกล่าวถือว่ายังไม่ผ่านมติของคณะกรรมการบริหารฯ แต่อย่างใด
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธํารงสวัสดิ์ คณะทำงานด้านวิชาการทางการแพทย์ ภายใต้คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวลือว่า นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ถอนตัวจากคณะทำงานดังกล่าว ว่า ตนได้รับทราบเรื่องนี้ผ่านอีเมล์ จากนพ.ยศ โดยตรง ซึ่งเป็นจดหมายเวียนถึงคณะทำงานด้วยกัน ระบุว่า อยากจะถอนตัวออก เนื่องจากเหตุผลส่วนตัวที่รู้สึกว่า กระทรวงการคลัง มีการตัดสินใจที่ ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม อาศัยแค่ระบบอำนาจของคณะกรรมการใหญ่และอาศัยบทบาททางการเมือง เป็นหลัก ซึ่งการทำหน้าที่เป็นเพียงคณะทำงานฯนั้นไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ อยู่แล้ว แต่การตัดสินใจของ นพ.ยศ นั้นยังไม่ชัดเจนเป็นเอกสารใดๆ
นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สำหรับกรณีการตัดสินใจของ กระทรวงการคลังนั้น โดยส่วนตัวก็เห็นว่าเป็นเป็นการอาศัยอำนาจทางการเมืองเป็นหลัก ไม่แน่ว่า หากหลังการเลือกตั้งแล้ว อาจมีการเปลี่ยนอีกหรือไม่ ดังนั้น ข้อสรุปทุกอย่างคงไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คณะทำงานฯ อย่างแน่นอน จากนี้บทบาทของคณะทำงานจะเป็นอย่างไรต้องรอดูอีกครั้งหลังเลือกตั้ง
ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า การออกประกาศลักษณะนี้ถือว่าดีต่อทุกฝ่าย เนื่องจากในผู้ป่วยข้อเสื่อมก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ส่วนการคุมการเบิกจ่ายโดยห้ามเบิกตรงนั้น ก็เป็นอีกแนวทางในการควบคุมค่าใช้จ่ายไปในตัว และที่สำคัญประกาศนี้น่าจะช่วย ให้บรรยากาศความเห็นต่างเกี่ยวกับเรื่องนี้เบาบางลงได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนกรณีที่จะศึกษาความคุ้มค่าและวางแนวทางการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถ ปฏิบัติได้จริงนั้น ขณะนี้ตนยังไม่ได้หนังสือเชิญการหารือ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นคณะอนุกรรมการเดิมหรือไม่ หรืออย่างไร แต่หากกรมบัญชีกลางต้องการข้อมูลใดๆ ก็พร้อมร่วมมือ ส่วนกรณีการลาออกของ นพ.ยศ นั้น ตนยังไม่เห็นหนังสือใดๆ
ด้านผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่า เรื่องความคุ้มค่าของยากลูโคซามีนนั้น ไม่สามารถใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือนเพื่อศึกษาวิจัยได้ และเชื่อว่าความคุ้มค่าที่คณะอนุกรรมการที่มีราชวิทยาลัยออโธปิดิกส์ แพทยสภาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พยายามนำเสนอนั้นเป็นแค่ความคุ้มค่าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น นั่นคือ กลุ่มที่ป่วยด้วยอาการข้อเข่าเสื่อมจากโรคชรา และมีอายุตั้งแต่ 56 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้เวลาผ่านไปยังไม่มีผลงานทางวิชาการมายืนยันชัดเจน ที่สำคัญหนังสือคำสั่งของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ก็เป็นเพียงหนังสือชั่วคราวเท่านั้น หากพบว่าไม่ไม่มีผลงานวิชาการใดๆยืนยันว่าคุ้มค่าจริง ทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ก็จะเสนอการศึกษาเช่นเดิม คือ ยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าทั้งเรื่องของประสิทธิผลการรักษาและเรื่องของค่า ใช้จ่าย ให้แก่คณะคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อพิจารณาควบคู่กันไป
“อย่างไรก็ตาม หากคลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ นั้นคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลไม่ได้มีบทบาทในการดูแล ควบคุม หรือเรียกร้องใดๆ หากแต่ทำหน้าที่เพื่อศึกษาความคุ้มค่าอย่างตรงไปตรงมา ตามข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อให้การใช้ยาของคนไทยมีความพอดี” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว