คลังทำหนังสือด่วน ส่งถึง รพ.ชี้ อนุมัติเบิกจ่ายยาข้อเสื่อมได้แบบมีเงื่อนไข เน้นย้ำห้ามจ่ายโดยตรง ผอ.รพ.รามาฯ เห็นด้วย ขณะที่ กก.1 รายในชุดทำงานขอถอนตัว
จากกรณีปลัดกระทรวงการคลังประกาศชัดว่าจะมีการเบิกจ่ายยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม (กลูโคซามีน) โดยมีข้อแม้ว่าการเบิกจ่ายยาต้องอยู่ภายใต้การประเมินอย่างรัดกุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยการเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ ให้ใช้ในเวลาจำกัด 3 เดือน แล้วให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยหรือไม่ หากมีจึงให้ใช้ต่ออีก 3 เดือน แล้วต้องหยุดการใช้ยาก่อน 3 เดือน เพราะหากใช้ต่อเนื่องจาก 6 เดือนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนในกรณีที่ใช้ 3 เดือนแรกแล้วแพทย์ประเมิน พบว่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยก็ต้องหยุดใช้ยาทันที ส่งผลให้เกิดทั้งกระแสเห็นด้วยและคัดค้าน ขณะที่กลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่มีปัญหาข้อเสื่อมต่างเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ
วานนี้ (29 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลัง ลงนามโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว.62 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2554 เรื่อง การเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หนังสือส่งถึงปลัดกระทรวง อธิบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ อธิการบดี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อ ำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ และสถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยหนังสือระบุถึงกรณีการกำหนดให้กลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบ และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม(ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น
ล่าสุด กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ดังนี้ 1.คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าของกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม ซึ่งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้พิจารณาดังนี้ 1.1 กลุ่มยากลูโคซามีนฯ ไม่ใช่ยาที่ใช้ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม แต่เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมบางกลุ่ม โดยต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ และวิธีการบริหารจัดการ ดังนั้น กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันศึกษาความคุ้มค่าและวางแนวทางการบริหารจัดการ การควบคุมกำกับการใช้ยาที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน และนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการพิจารณา
1.2 คณะอนุกรรมการบางท่าน เห็นว่า ในระหว่างรอผลการศึกษา กระทรวงการคลังควรทบทวนคำสั่งห้ามเบิกจ่ายยา โดยการผ่อนคลายให้เบิกจ่ายได้ตามเงื่อนไขข้อบ่งชี้ที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยสิทธิดังกล่าวที่ต้องใช้ยา ทั้งนี้ นำไปสู่ข้อ 2.กระทรวงการคลังเห็นสมควรผ่อนคลายให้ผู้มีสิทธิสามารถเบิกจ่ายยาดังกล่าวได้ตามเงื่อนไข ดังนี้ 2.1 ค่ายาที่เบิกได้นั้นต้องเป็นการสั่งใช้ยาตามแนวทางกำกับการใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟตของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ 2.2. ห้ามสถานพยาบาลเบิกค่ายาดังกล่าวในระบบเบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง และให้สถานพยาบาลออกใบเสร็จรับเงินค่ายาดังกล่าว เพื่อผู้มีสิทธินำไปยื่นขอเบิกจากส่วนราชการต้นสังกัด
2.3 ให้แพทย์ผู้ทำการรักษาที่สามารถสั่งใช้ยาตามแนวทางดังกล่าว เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการใช้ยากลูโคซามีนฯ ซึ่งเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติแทนคณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลได้ 2.4 กรณีที่กรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่าสถานพยาบาลมีการสั่งจ่ายยาไม่เป็นไปตามแนวทางจะดำเนินการเรียกคืนเงินค่ายาดังกล่าว 3.การเบิกจ่ายค่ายา ให้ส่วนราชการตรวจสอบคำขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล และหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายให้ถูกต้อง และให้ส่วนราชการผู้เบิกจัดทำรายงานการเบิกจ่ายเงินค่ายากลูโคซามีนฯประจำเดือนส่งให้กรมบัญชีกลางพร้อมสำเนา ใบเสร็จรับเงินและสำเนาหนังสือรรับรองการใช้ยา ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเพิ่งได้รับหนังสือดังกล่าว และได้เรียกประชุมทีมแพทย์ เพื่อรับทราบเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งหลักๆ คือ 1.ต้องสั่งยาตามข้อกำหนดของราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ฯ 2.ต้องให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายไปก่อน โดยโรงพยาบาลไม่สามารถเบิกจ่ายตรงได้ 3.แพทย์ที่จะสั่งจ่ายยากลุ่มนี้จะต้องเป็นแพทย์เฉพาะทาง 3 ด้าน คือ 1.อายุรแพทย์โรคข้อ 2.แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู 3.แพทย์ออร์โธปิดิกส์ สำหรับกรณีคนไข้ที่จะมีสิทธิรับยานี้ สิ่งสำคัญต้องเป็นผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการในระยะปานกลาง ไม่ใช่สาหัส ซึ่งแพทย์จะต้องทำการวินิจฉัย และมีใบสั่งยามาแล้ว และต้องมีอายุตั้งแต่ 56 ปีขึ้นไป อีกทั้ง อาการป่วยต้องไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เว้นแต่ข้อเสื่อมเพราะความชราเท่านั้น ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป
“การตัดสินใจของกรมบัญชีกลางครั้งนี้ ถือว่าดี และรอบคอบ ถือว่าเป็นธรรมกับข้าราชการที่ป่วยด้วยอาการข้อเสื่อม หลังจากนี้ในยาอื่นๆที่เล็งว่าจะยกเลิกอีก 8 ตัว อยากให้กรมบัญชีกลางพิจารณาในลักษณะคล้ายกันด้วยเช่นกัน คือ เน้นความคุ้มค่า ควบคู่ไปกับความจำเป็นต้องใช้ แต่หนังสือดังกล่าวยังไม่ใช่ประกาศตายตัว เพราะยังต้องรอการพิจารณาความคุ้มค่า และวิธีการบริหารจัดการจากคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาอีก 1 เดือน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อกำหนดนี้ดีแล้ว” รศ.นพ.ธันย์ กล่าว
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบุว่า จากปัญหาดังกล่าวที่มีทั้งกลุ่มเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในการทบทวนประกาศ และมีมติให้สามารถเบิกยากลุ่มข้อเสื่อม ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ 1 ในคณะกรรมการชุดนี้ได้ถอนตัวออกแล้ว แต่คณะกรรมการหลายท่านยังไม่ห็นหนังสือยืนยันที่ชัดเจน โดยผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจาก นพ.ยศ ติดภารกิจไปที่ต่างประเทศ