แพทยสภาเตรียมดันวาระ “สิทธิการตาย” เข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ 14 ก.ค.เตรียมเสนอประเด็นเรื่องการฟ้องศาลปกครองล้มกฎกระทรวงแสดงเจตนาฯ ตามข้อเสนอของแพทย์บางกลุ่ม ด้าน ส.ว.กรรมาธิการการสาธารณสุขชี้ หากดำเนินการจริง ผู้ป่วยบัตรทองเสียสิทธิ ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เพราะไม่ได้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข แต่เป็นการยินยอม
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ออกประกาศกระทรวงทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่ เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บ ป่วย พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ก่อให้เกิดฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ตั้งคณะทำงานการดำเนินการตามหนังสือดังกล่าว ไม่ให้กระทบต่อแพทย์และบุคลากร สธ.นั้น
ล่าสุด วันนี้ (30 มิ.ย.) ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา แถลงข่าวหลังการประชุมกรรมการบริหาร ถึงกรณีดังกล่าวว่า เนื่องจากมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่าย ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.)ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปให้แพทยสภา ซึ่งเป็นตัวแทนวิชาชีพแพทย์ทำหน้าที่ดำเนินการหาความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง นี้ เนื่องจากมีแพทย์หลายฝ่าย กังวลถึงการบังคับใช้แนวทางการแสดงสิทธิดังกล่าว เพราะอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และยังขัดต่อจริยธรรมแพทย์ ที่สำคัญ กฎกระทรวงดังกล่าวยังออกเกินกว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนด ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขมีความประสงค์ต้องการความชัดเจน จากการประชุมของกรรมการบริหารจึงมีความเห็นว่าจะนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เพื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหว ซึ่งเบื้องต้นอาจดำเนินการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว
ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ต้องระวัง คือ การพิจารณาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากหากญาติไม่เข้าใจจะนำปัญหามาสู่แพทย์ และเกิดเป็นประเด็นฟ้องร้องได้ ขณะเดียวกันการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เนื่องจากการแสดงเจตนาดังกล่าว ถือเป็นการเสียสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้ไม่สามารถรับเงินกรณีเกิดความเสียหายจากการรักษาจำนวน 2 แสนบาททันที อีกทั้งกรณีผู้ทำประกันชีวิตอาจไม่ได้รับเบี้ยประกัน เนื่องจากอาจเข้าข่ายการฆ่าตัวตาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยอาจเสียไปด้วย
ศ.นพ.วิรัติ กล่าวด้วยว่า ในส่วนผลกระทบทางการแพทย์ คือ หากแพทย์ไม่รู้กฎหมายและไปดำเนินการจะถูกข้อหา เจตนาฆ่า ซึ่งมีความผิดทางออาญาและมีสิทธิได้รับโทษขั้นสูงสุดถึงการประหารชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย เพราะเมื่อทำตามกฎหมายหนึ่งก็อาจไปก้าวล่วงกฎหมายหนึ่งด้วย ดังนั้น การจะดำเนินการตามสิทธิการตายได้ จะต้องไม่มีช่องโหว่เรื่องดังกล่าว