xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิแพ้ในเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ : บทความ
นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ : เรียบเรียง

ปีนี้ธรรมชาติแปรปรวนน่าดู จนลูกน้อยของคุณมีอาการน่าเป็นห่วงอย่างนี้หรือไม่ ไอ หายใจหอบ หายใจวี้ด เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย จาม คัดแน่นจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล คันตา น้ำตาไหล เสมหะลงคอ เป็นๆ หายๆ ผื่นคันหรือลมพิษ หลังรับประทานอาหารหรือยาบางอย่าง หรือสัมผัสสารบางอย่างมีอาการทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหาร หลังจากกินอาหารหรือยาบางชนิด

ถ้ามีล่ะก็ ลูกของคุณเข้าข่ายเป็น “โรคภูมิแพ้” ได้อยู่ ว่าแต่จะทำอย่างไรดี เรามีความรู้มาฝากค่ะ
รู้จักโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจาก “สารก่อภูมิแพ้” ที่เข้าสู่ร่างกาย กับ “ภูมิแพ้” ที่ร่างกายสร้างขึ้น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะเกิดอาการภูมิแพ้เมื่อได้รับสารภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายในขณะที่คนทั่วไปไม่มีอาการ โรคนี้พบได้บ่อย พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของประชากรมักเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ถ้ามีอาการถึงขั้นรุนแรง อาจต้องขาดโรงเรียน พ่อแม่ขาดงานเพราะต้องเฝ้าดูแลลูกน้อย เป็นผลให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

เราพบว่า พันธุกรรม เป็นสาเหตุสำคัญ หากพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกเกิดมาเป็นโรคภูมิแพ้ ก็มีแนวโน้มสูงตามไปด้วย อาการอาจเหมือนพ่อแม่หรือไม่ก็ได้ เนื่องจากอาการแสดงแตกต่างตามช่วงอายุ นอกจากนี้การได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ ละอองเกสรดอกไม้ รังแคจากสัตว์เลี้ยง เชื้อรา รวมทั้งปัจจัยเสริม ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศเย็น สารระคายเคือง ควันรถ การติดเชื้อ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน

เมื่อถามถึงการวินิจฉัย คุณหมอจะเริ่มด้วยการซักประวัติของผู้ป่วยและครอบครัว ยิ่งได้รายละเอียดมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำขึ้นเท่านั้น ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการทั่ว ๆ ไป และการตรวจสอบพิเศษ เช่น การทดสอบผิวหนัง ซึ่งพบว่าสิ่งที่เด็กไทยแพ้บ่อย ได้แก่ ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น นุ่น แมลงสาบ เชื้อรา อาหารทะเล ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง หญ้าและเกสรพืช ซึ่งผลที่ได้จะช่วยสนับสนุนโรคบางโรค และแยกโรคอื่นๆ ออกไป ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง ร่วมกับการใช้ยาตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารพอเหมาะถูกสัดส่วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนเพียงพอ แต่ก็มีบางรายที่อาจต้องฉีดยาวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งจะต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมทั้งอาจเกิดอันตรายจากการแพ้จึงควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ควรพบแพทย์ถ้ามีอาการหรือติดตามดูอาการเป็นระยะ

แม้ว่าโรคภูมิแพ้มักจะไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมอาการได้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมถูกต้อง ร่วมกับการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อย่างสม่ำเสมอ อัตราหายจากอาการของโรคก็อาจสูงถึงร้อยละ 75-80 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และระยะเวลาตั้งแต่เริ่มอาการจนถึงการรักษา ดังนั้นจึงควรวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด

** กิจกรรมดีๆ มาแล้ว

ชวนเที่ยวงาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับกรมประมง เชิญ
ชวนประชาชนทั่วไปร่วมงาน “วันประมงน้อมเกล้าฯ” ครั้งที่ 23 ชมความมหัศจรรย์ใต้ท้องทะเล พร้อมรับบริการเพื่อสุขภาพฟรี ระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2554 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค สอบถาม โทร.0 2419 7646-55

เลี้ยงลูกดั่งใจ โรงพยาบาลศิริราช จัดอบรมให้ความรู้เรื่อง “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ดี”
สำหรับเด็กวัยแรกเกิด - 12 ปี โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.วัณเพ็ญ บุญประกอบ และ ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.00-16.00 น.ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 สอบถามและสำรองที่นั่งฟรี โทร.0 2419 5722, 0 2419 7626, และ www.si.mahidol.ac.th/ศูนย์ข่าวศิริราช/โครงการศิริราชสอนเลี้ยงลูก
กำลังโหลดความคิดเห็น