อาชีวะประสานคุรุสภา เยียวยา นศ.ปทส. 672 คน หลังรู้ข่าว นศ.หวั่นถูกทิ้ง เพราะเรียนจบ แต่ขอใบประกอบวิชาชีพครูไม่ได้ เหตุระยะเวลาเรียนแค่ 3 ปี แต่ กม.ใหม่กำหนดต้องจบครู 5 ปี “ศศิธารา” เตรียมหาทางออกในอนาคตจะทำหลักสูตรนี้ต่อ หรือปรับหลักสูตรใหม่ เผย อดีตมี วท.เปิดหลักสูตร ปทส.28 แห่ง ปัจจุบันเหลือ 8 แห่ง
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 จำนวน 672 คนซึ่งเรียนอยู่วิทยาลัยสังกัด สอศ. 8 แห่ง โดยขณะนี้นักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวกำลังมีความกังวลใจ เพราะเกรงว่า สอศ.จะทอดทิ้งพวกเขา จึงได้สะท้อนปัญหามายังตนว่า ใน พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ออกมานั้นกำหนดว่าผู้ที่จะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้นั้น จะจบหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 5 ปี แต่ในหลักสูตรของ ปทส.กำหนดให้เรียนเพียง 3 ปีเท่านั้น จึงเกรงว่าเมื่อเรียนจบแล้ว จะไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ดังนั้น สอศ.ได้หารือกับคุรุสภาแล้วว่าจะเยียวยานักศึกษากลุ่มนี้ โดยจะขอให้สถานศึกษาสังกัด สอศ.จัดทำรายละเอียดเสนอมาที่ สอศ.เพื่อส่งรายชื่อนักศึกษาจำนวนดังกล่าวไปยังคุรุสภาเยียวยาให้ได้รับใบรับรองใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเบื้องต้นไปก่อนและภายใน 2 ปีจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตัวจริง โดยนักศึกษาทั้งหมดนี้จะเรียนจบภายในปี 2555
“ในอนาคต สอศ.จะพิจารณาว่าหลักสูตร ปทส.นี้จะต้องยกเลิกหรือควรจะปรับไปเป็นหลักสูตรอื่น ๆ เพราะในอดีตหลักสูตร ปทส.เปิดสอนในวิทยาลัย 28 แห่ง แต่ปัจจุบันมีเด็กเรียนน้อยจึงเหลือเพียง 8 แห่งเท่านั้น นั่นเพราะเด็กที่จบออกมาจะไปประกอบอาชีพเป็นครูใน สอศ.ก็ไม่ได้และทำให้เด็กสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรนี้น้อยมาก” เลขาธิการ กอศ.กล่าว
น.ส.ศศิธารา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สอศ.กำลังร่วมกับคุรุสภาจัดทำโครงสร้างมาตรฐานอาชีพครูช่าง เพื่อรองรับการผลิตครูช่าง หรือครูอาชีวศึกษา โดย สอศ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบมาตรฐานนำเสนอคุรุสภาในเดือนสิงหาคม ซึ่งเมื่อคุรุสภาเห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวต่อไปนี้ จะทำให้มีมาตรฐานวิชาชีพครูช่างที่ชัดเจนขึ้น โดยตามกรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองกำหนดกรอบอัตรากำลังครูช่างไว้ประมาณ 10,000 อัตรา