xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานเฮ! เอกชนตอบรับขึ้นค่าแรงตามฝีมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอกชนตอบรับขึ้นค่าแรงตามฝีมือ ห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีกระทบต้นทุน แนะรัฐอุดหนุนงบช่วงแรก

วันนี้ (29 เม.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นางจิราภรณ์ เกสรสุจริต อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) แถลงข่าว “กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ” ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้นำประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 11 สาขาอาชีพ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน กพร.จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการทดสอบและรับรองคุณภาพฝีมือแรงงาน โดยใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของหน่วยงาน อื่น รวม 184 แห่ง เป็นสถานที่ทดสอบ

นางจิราภรณ์ กล่าวว่า กพร.ได้กำหนดค่าธรรมเนียมในการทดสอบไว้ คือ ระดับ 1 จ่าย 100 บาท ระดับ 2 จ่าย 150 บาท และระดับ 3 จ่าย 200 บาท ซึ่งจนถึงปี 2553 มีผู้เข้าร่วมทดสอบมาตรฐานฝีมือใน 11 สาขาอาชีพแล้วกว่า 6 หมื่นคน โดยผ่านการทดสอบ 4.8 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในปี 2554 จะมีผู้ขอรับการทดสอบประมาณ 2 หมื่นคน

ขณะ ที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครั้งนี้ จะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากเมื่อแรงงานมีฝีมือก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการพาลูกจ้างมารับการทดสอบ เนื่องจากทุกๆปีต้องประสบปัญหาในเรื่องการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว และทุกครั้งที่มีการเรียกร้องก็จะเกิดแรงกระเพื่อมเพราะไม่สามารถปรับได้ตาม ความเป็นจริงของสังคม ทั้งๆที่ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก

ด้าน นายชุมพล พรประภา ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การออกมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการบังคับ เพราะหากสถานประกอบการไม่พาลูกจ้างไปทดสอบฝีมือก็ไม่มีปัญหาอะไร และมาตรการนี้ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่นำมาใช้

อย่างไรก็ตาม ถือว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากไทยขาดแคลนแรงงานมานับสิบปี ซึ่งจริงๆ ควรที่จะทำมาตั้งนานแล้ว ต้องบอกว่าวันนี้อำนาจการต่อรองอยู่ในมือของลูกจ้าง แต่เมื่อออกมาตรการนี้มา การต่อต้านจากเอกชนน้อยลง

นายชุมพล กล่าวว่า ในเบื้องต้นอยากให้กระทรวงแรงงานเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการก่อน เพราะบางส่วนยังเข้าใจผิดคิดว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจส่วนใหญ่ต่างก็ดูเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งหากทั้งลูกจ้างและภาคธุรกิจได้ประโยชน์ด้วยกันก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และหลังจากนี้ในส่วนของสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ต้อง เร่งทำความเข้าใจกับสมาชิกด้วย

นายชุมพล กล่าวต่ออีกว่า เรื่องนี้จะไปเร่งคงไม่ได้ คงต้องๆค่อยเป็นค่อยไป จริงๆ แล้วประเทศไทยควรทำเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อน แต่ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงคือ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือก่อน เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้ใช้แรงงานเข้มข้น และปรับตัวได้ช้า ดังนั้น ภาครัฐอาจต้องเข้าไปช่วยให้เงินสนับสนุนในการยกระดับมาตรฐานฝีมือ ครั้งนี้

“ภาคธุรกิจที่น่าห่วง คือ ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งปรับตัวไม่ทันและต้นทุนน้อยต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูงและปรับตัวรวดเร็ว จึงอยากให้กระทรวงแรงงานให้การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีโดยคิดค่าบริการ ประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงานให้อัตราที่ถูกลงหรือกำหนดให้การธุรกิจเอสเอ็ม อีสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆในการสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าประเมินมาตรฐานฝีมือ แรงงานไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้เพื่อช่วยลดภาระต้นทุน” นายชุมพล กล่าว

นายชุมพล ยังกล่าวด้วยว่า การกำหนดมาตรฐานอาชีพครั้งนี้ถือว่าเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาค่าจ้าง ขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับแรงกดดันลดลง ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาลบอกว่าจะลดภาษีให้สถานประกอบการนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ขึ้นอยู่ว่าจะลดเท่าไร เช่น ตอนนี้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีร้อยละ 30 หากรัฐบาลลดเหลือร้อยละ 17-18 ก็ไม่มีปัญหา

“ผมเชื่อว่า ค่าแรงคงต้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อในไตรมาส 1-2 ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่รัฐบาลต้องปล่อยลอยตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และรัฐบาลก็ไม่สามารถคุมราคาสินค้าแต่ละตัวไว้ได้ ต้นทุนค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ” นายชุมพล กล่าว

นายจตุรพร สุวรรณโชติ ผู้เข้ารับการฝีกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างอิเลคทรอนิกส์ (โทรทัศน์) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทางกระทรวงแรงงานได้จัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรง งาน เพราะทำให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของคนงาน

นางวาสนา จันทร์อักษร ผู้เข้าฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาประกอบอาหารไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่มีการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เนื่องจากมองว่าแรงงานที่ได้ใบประกาศคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้ทำงานในต่างประเทศที่ใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานได้ทันที ซึ่งจะส่งผลดีให้กับแรงงานในแง่ของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และสวัสดิการดีขึ้น

ผศ.ศรีสมร คงพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาผู้ประกอบอาหารไทย กล่าวว่า การมดสอบจะใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิคอบตัดสิน 3คน ซึ่งการทดสอบกับกระทรวงแรงงาน จะเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท แต่หากไปทดสอบกับภาคเอกชนต้องเสีย 1,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น