xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกเครือข่ายแพทย์เฝ้าระวังมะเร็งแร่ใยหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะเร็งเยื่อหุ้มปอด
เครือข่ายแพทย์พร้อมรับมือ “มะเร็งแร่ใยหิน” บูรณาการ ตรวจวินิจฉัยโรค ชี้ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง เหตุกลุ่มเสี่ยงอยู่ในระยะฟักตัวใช้เวลา 30-40 ปี

พญ.พิชญา พรรคทองสุข หัวหน้าหน่วยอาชีวอนามัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หลังจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือน ก.พ.2554 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์ เป็นวัตถุดิบอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งได้เริ่มห้ามให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือห้ามมีไว้ในการครอบครอง รวมทั้งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับสินค้าที่มีสารทดแทนแร่ใยหินไปแล้วนั้น ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการยกเลิกหารใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค 

“ที่ผ่านมา จากประสบการณ์นานาชาติ ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปและอเมริกา ที่ใช้แร่ใยหินมาก่อนไทย ก็พบการป่วยด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินจำนวนมาก เช่น อังกฤษพบผู้ป่วยประมาณปีละ 1,600 คน สหรัฐอเมริกาปีละ 2,800 คน ฝรั่งเศสปีละ 750 คน เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น พบมะเร็งเยื่อหุ้มปอดประมาณปีละ 800 ราย และแม้ประเทศเหล่านี้จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว ก็ยังมีรายงานการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการบริโภคในอดีตมายาวนาน” พญ.พิชญา กล่าว

พญ.พิชญา กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย จากที่เคยพบผู้ป่วยรายแรกที่เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากสารแร่ใยหินเมื่อ 2 ปี ก่อน โดยผู้ป่วยรายนี้ มีประวัติทำงานสัมผัสแร่ใยหินเป็นเวลานาน และมีอาการและภาพรังสีปอด รวมทั้งพยาธิวิทยาเข้าได้กับมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหิน จากนี้ทางเครือข่ายแพทย์ด้านอาชีวอนามัยและทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเครือข่ายแพทย์ในมหาวิทยาลัย จะตระหนักในเรื่องของโรคมะเร็งเยื้อหุ้มปอดจากแร่ใยหินเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลเห็นแล้วว่า มะเร็งจากแร่ใยหินอาจจะกลายเป็นปัญหาสำคัญขึ้นมาได้

“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เข้าสู่การเลือกตั้ง จึงคงต้องรอภาพความชัดเจนของรัฐบาล ส่วนตัวเชื่อว่า ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมการแพทย์จะผลักดันเรื่องนี้ อย่างต่อเนื่อง เพราะจากข้อมูลต่างๆ ทำให้เห็นแล้วว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่าการใช้แร่ใยหิน และที่ผ่านมามีการใช้แร่ใยหินมาเป็นระยะเวลา 30-40 ปี จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องของผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบ เพราะกลุ่มเสี่ยงอยู่ในระยะฟักตัว 30-40 ปี ซึ่งทางเครือข่ายแพทย์ได้พร้อมแล้วที่จะร่วมมือกันบูรณาการ การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่สืบเนื่องมาจากการสัมผัสแร่ใยหิน ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะให้ความรู้แก่คนงานด้วยว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร และสังเกตอาการป่วยได้อย่างไรต่อไปด้วย” พญ.พิชญา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น