xs
xsm
sm
md
lg

แฉIBASหนุนเลิกแร่ใยหิน ขู่เลิกกิจการเหตุต้นทุนพุ่ง30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ผลิตกระเบื้องหลังคา โวยยกเลิกใช้ใยหินทำต้นทุนเพิ่ม 25-30% ส่งผลผู้บริโภคต้องซื้อกระเบื้องแพงขึ้น 55% แถมไม่ทน ขู่ปิดกิจการหากยกเลิกใช้ใยหิน เหตุต้นทุนแพง แถมไม่ทน พร้อมแฉ IBAS หัวหอกแบนแร่ใยหิน หวังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการฟ้องร้อง ด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางเดินหายใจยันไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าก่อมะเร็ง

นายอัศนี ชันทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่มีการเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่ออุตสหากรรมกระเบื้องหลังคาทันที ทั้งในเรื่องราคาเพราะการใช้วัสดุอื่นทดแทนเช่นเยื้อกระดาษต้นทุนสูงขึ้น 5 เท่า ขณะที่การใช้เส้นใยทดแทน PVA จะมีต้นทุนสูงขึ้น 10 เท่า

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐบังคับให้เลิกใช้ใยหินไครโซไทล์ จะส่งผลให้ต้นทุนและราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทันที 25-30% จากสารทดแทนที่มีราคาสูงกว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ถึง 10 เท่า และจะส่งผลต่อราคาขายปรับขึ้นอีกกว่า 55% หรือกระเบื้องไม่ใช้ใยหินจะมีราคาประมาณ 48-49 บาท/แผ่น ขณะที่กระเบื้องผสมใยหินราคา 31-32 บาท/แผ่น

อีกทั้งยังส่งผลต่อความหลากหลายของสินค้าที่ลดลง เป็นการจำกัดทางเลือกในการใช้สินค้าของผู้บริโภค เพราะสารทดแทนไม่สามารถนำมาผลิตกระเบื้องลอนคู่ที่มีความหนาต่ำกว่า 5 ม.ม.ได้

นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้วัสดุทดแทนมีความแข็งแรงทนทานน้อยกว่ามาก แม้ว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.จะกำหนดความหนาเพิ่มเป็น 5 มิลลิเมตร ความแข็งแกร่ง 1,500 นิวตัน/ตร.ม. ขณะที่กระเบื้องหลังคาผสมแร่ใยหิน มอก.กำหนดให้มีความหนา 4.4 มม. ความแข็งแกร่ง 4,250 นิวตัน/ตร.ม. หรือมีความต้านแรงแตกหักมากกว่า 3 เท่า และในสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบันจะทำให้กระเบื้องหลังคาที่ไม่มีส่วนประกอบของใยหินแตกหักง่าย ไม่คงทน ต้องเปลี่ยนหลังคาบ่อยขึ้น

ด้านนายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นกล่าวหาว่าใยหินเป็นผู้ร้ายในสังคมไทย เกิดขึ้นจากกระแสของต่างชาติ โดยองค์กร International Ban Asbestos SecretariatหรือIBAS เคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการใช้ใยหินทั่วโลก โดยเบื้องหลังขององค์กรนี้คือผู้ที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลผู้อนุญาตให้นำเข้าและผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลังจากที่ห้ามใช้ใยหิน

ทั้งนี้ IBAS พยายามแทรกซึมเข้าไปในองค์การอนามัยโลกหรือ WHO โดยการอ้างตัวอย่างอันตรายของใยหินที่เกิดขึ้น โดยไม่สนใจประเภทและวิธีการนำไปใช้ ความเข้มข้น และระยะเวลา ของแต่ละกรณี แต่ละประเทศ ว่าแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร เพราะ IBAS มีธงอย่างเดียว คือให้เลิกใช้ ซึ่งในต่างประเทศที่ยกเลิกการใช้ใยหิน มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก แม้ว่าผู้ประกอบการจะยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีใยหินไปแล้วก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับล้มละลายตกเป็นภาระของรัฐบาลและสังคมต่อไป แต่ผู้ที่ร่ำรวยกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ผลิตวัตถุดิบทดแทนใยหินซึ่งจะเป็นผู้ผูกขาดตลาด

นอกจากนี้ การยกเลิกนำเข้าใยหิน ยังเป็นการส่งเสริมการผูกขาดของตลาดกระเบื้องมุงหลังคาในไทย เพราะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและองค์ความรู้ในการผลิตกระเบื้องไม่มีใยหิน รวมทั้งการทำให้บริษัทผู้ผลิตกระเบื้องขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันหรือถูกกีดกันจนไม่สามารถทำตลาดได้จนต้องเลิกกิจการไป

ด้านนายวิเชียร ผู้พัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทไทยกระเบื้องหลังคา จำกัด กล่าวว่า หากเลิกใช้ใยหินทำกระเบื้องหลังคา บริษัทคงต้องเลิกกิจการ เพราะการจะเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นแบบไม่มีใยหิน จะต้องลงทุนจำนวนมาก และก็ไม่รู้ว่าต้องเพิ่มเงินลงทุนและเวลาอีกนานแค่ไหนกว่าจะทำให้กระเบื้องหลังคาที่ไม่มีใยหินมีคุณสมบัติและคุณภาพที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในไทยเทียบเท่ากระเบื้องใยหินได้
กำลังโหลดความคิดเห็น