xs
xsm
sm
md
lg

อย.แนะชาวอีสานเลี่ยงซื้อไก่จากรถเร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรมอนามัย ตรวจเยี่ยมตลาดสดน่าซื้อ มั่นใจเนื้อไก่มีความสะอาด ปลอดภัย ด้าน อย.ประสาน สสจ.ตรวจร้านค้าย่อยในโคราช แนะชาวอีสานช่วงนี้หลีกเลี่ยงซื้อไก่จากรถเร่ขาย พร้อมเตือนภัตตาคาร ระวังเลือกวัตถุดิบ ต้องได้คุณภาพ ด้าน คร.ลุยงานร่วมกับ กรมปศุสัตว์ตรวจซากไก่เน่า ไม่พบตายจากโรคระบาด ผู้ตรวจราชการ สธ.เผยผลตรวจแผงไก่ 13 แห่ง ไม่พบฟอร์มาลิน

จากเหตุการณ์ผู้ประกอบการโรงชำแหละไก่ นำไก่ที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคนั้น สร้างความหวั่นใจให้กับประชาชนในการบริโภคเนื้อไก่ และส่งผลกระทบต่อพ่อค้า-แม่ค้า ที่จำหน่ายเนื้อไก่เป็นจำนวนมากนั้น

ล่าสุด วานนี้ (14 มิ.ย.) ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ตลาดยิ่งเจริญ ย่านดอนเมือง ซึ่งเป็นตลาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย ภายในตลาดสดยิ่งเจริญ มีแผงจำหน่ายไก่ประมาณ 50 แผง และมีเนื้อไก่จำหน่ายวันละประมาณ 40-50 ตัน ที่สำคัญ เป็นเนื้อไก่ที่มีคุณภาพและปลอดภัย จากโรงงานที่ได้มาตรฐาน

โดย ดร.สมยศ กล่าวว่า สำหรับวิธีการสังเกตเนื้อไก่สดใหม่นั้น ให้ดูที่ลักษณะของเนื้อที่แน่น ผิวตึง เมื่อใช้นิ้วแตะต้องไม่เป็นรอยบุ๋มตามแรงกด เนื้อมีสีสด ไม่ซีด หรือมีจ้ำเขียว ใต้ปีก ขา และลำคอ ที่ต่อกับตัว ต้องไม่มีสีคล้ำ ไม่มีจุดเลือดออก หรือตุ่มหนอง ไม่มีแผลตามตัว ลูกตาไม่ลึกบุ๋ม ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีเมือกลื่น สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อไก่ที่ถูกสุขลักษณะ ควรมีการจัดการที่ถูกสุขลักษณะทั้งสถานที่จำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงผู้จำหน่าย ไม่วางซากสัตว์ปีก หรือเนื้อสัตว์บนพื้น ต้องมีตู้แช่ หรือน้ำแข็ง เพื่อควบคุมอุณหภูมิเนื้อสัตว์ปีกไม่กิน 10 องศาเซลเซียส ให้แยกวางระหว่างเนื้อสัตว์ปีก และเครื่องในสัตว์ปีก สำหรับเนื้อไก่ที่ไม่ได้คุณภาพ ค้างคืนเป็นเวลานานจะมีลักษณะมีสีขาวซีดอมเขียว เนื้อจะนิ่มเละ เวลากดจะเป็นรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่คืนตัว มีกลิ่นเหม็น” ดร.นพ.สมยศ กล่าว

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ส่วนของ อย.นั้น ได้ประสานงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจทุกร้านค้ารายย่อย เพื่อตรวจสอบว่า มีการนำไก่ที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายหรือไม่ ส่วนการตรวจสอบเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ยังไม่ดำเนินการ สำหรับประชาชนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ไม่ควรซื้อไก่ที่มาจากรถเร่ขาย ควรซื้อไก่จากร้านประจำที่มีแหล่งที่มาน่าเชื่อถือ สำหรับร้านอาหาร หรือร้านค้ารายย่อยใดมีการนำไก่ชำแหละที่ไม่ได้คุณภาพมาปรุงอาหาร ซึ่งหากพบสารปนเปื้อน โดยเฉพาะฟอร์มาลิน จะดำเนินคดีในข้อหาอาหารไม่บริสุทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.พิพัฒน์ กล่าว

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร กล่าวว่า อย.จะมีการตรวจสอบโรงงานแปรรูปพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ อยู่แล้ว โดยจะพิจารณาว่ามีการนำวัตถุดิบมาจากแหล่งใด ถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) หรือไม่ ซึ่งปกติโรงงานเหล่านี้จะได้มาตรฐานอยู่แล้ว ยิ่งโรงงานขนาดใหญ่ยิ่งไม่ค่อยน่าห่วง แต่พวกโรงงานรายย่อยจะควบคุมยาก ซึ่งอาจกระจายไปตามร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ ได้ ดังนั้น คงฝากเพียงร้านค้าต่างๆ ควรเลือกวัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากใครพบเบาะแสร้านอาหาร หรือร้านค้ารายย่อยใดมีการนำไก่ หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพ สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย.ที่โทร.1556

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คร.ได้ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการตรวจสอบว่าซากไก่ดังกล่าวตายผิดปกติหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่า ไก่ดังกล่าวไม่ได้ตายจากโรคระบาด อย่างไรก็ตาม กรณีซากไก่ที่นำมาชำแหละขายนั้น ต้องพิจารณา 2 กรณี คือ 1.ไก่ตายตามปกติ ส่วนใหญ่จะมีเชื้อแบคทีเรีย ซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งจะทำให้ก่อโรคทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย บางรายรุนแรงอาจติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ และ 2.ไก่ตายจากโรคระบาด กรณีนี้ต้องระวัง เพราะหากเป็นโรคไข้หวัดนก หากประชาชนบริโภคเข้าไปอาจติดเชื้อได้ แต่เบื้องต้นกรณีนี้ไม่ใช่

ขณะที่ นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 14 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจแผงขายเนื้อไก่สด ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 13 แผง ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับโรงชำแหละไก่ดังกล่าวมากที่สุด โดยในการดำเนินการตรวจสอบนั้นจะใช้มาตรฐานตามหลักการของกรมอนามัย ซึ่งไม่พบสารฟอร์มาลิน และความผิดปกติอย่างใด ส่วนการดำเนินคดีนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขได้ดำเนินการแจ้งข้อหาไปแล้ว 3 ข้อหาฐานความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

นพ.คำรณ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ เรื่องของไส้กรอก และลูกชิ้นไก่ ที่อาจจะมีการนำไก่ที่ผสมฟอร์มาลินมาแปรรูปไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถทดสอบได้ด้วยตนเองว่าลูกชิ้น และไส้กรอก ทำมาจากไก่ผสมสารชนิดนี้หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุม สสจ.ในพื้นที่เขต 14 เพื่อให้มัการสุ่มตรวจ และเฝ้าระวังในเรื่องนี้ นอกเหนือจากการเฝ้าระวังไก่สดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น