แพทยสภา เสนอกรมบัญชีกลาง ตั้งคณะทำงานตัดสินใจการเบิกยานอกบัญชี คุมพฤติกรรมการใช้ยาเกินความจำเป็น
จากกรณีที่กรมบัญชีกลาง และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีการรายงานผลการสอบสวนพบว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักเกินความจำเป็นนั้น วานนี้ (14 มิ.ย.) นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ในการแก้ปัญหานั้น คิดว่า ควรที่จะมีการจ่ายยาอย่างมีเงื่อนไข เพื่อให้สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผลได้ หรือเกินความจำเป็นได้ รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้ยาด้วย เช่น อาจตั้งเกณฑ์ขึ้นมา ว่า ถ้าเป็นยาในบัญชียาหลัก ผู้รับบริการสาธารณสุขอาจไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า แต่ถ้าเป็นยานอกบัญชียาหลักให้สำรองจ่ายเงินล่วงหน้า ยกเว้นกรณีข้าราชการที่มีรายได้น้อย อาจจะกำหนดเพดานในการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้รับภาระหนักเกินไป ซึ่งเชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะสามารถบรรเทาปัญหาของทุกฝ่ายลงได้ เพราะหลักๆ เชื่อว่า ไม่น่าจะมียาสามัญตัวใดที่ใช้แล้วไม่ได้ผล 100% ซึ่งกรมบัญชีกลางน่าจะเข้าใจหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางอาจจะใช้วิธีการตั้งคณะทำงานตัดสินใจการเบิกยานอกบัญชียาหลัก คล้ายๆ กับกรณียาข้อเข่าเสื่อมกลูโคซามีน ที่ใช้วิธีการเชิญตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ อาทิ แพทยสภา คณะทำงานวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง นำหลักฐานที่เป็นผลทางการรักษาจากการใช้ยามาพิสูจน์กันให้ชัดเจน ถือว่าน่าจะเป็นการแก่ปัญหาที่ดี เพราะคณะอนุกรรมการที่แพทยสภาตั้งขึ้น ก็มีการรวบรวมความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ ไว้อยู่แล้ว และพร้อมที่จะนำเสนอหลักการดังกล่าวแก่กรมบัญชีกลาง