ผู้ประกันตนแห่โทร.เข้าสายด่วนประกันสังคมเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นสาย ช่วง ม.ค.-พ.ค.ส่วนใหญ่สอบถามประกันสังคม ม.40-ร้องเรียนการรักษา-สิทธิประโยชน์ ชี้ รพ.ตามบัตรรับรองสิทธิฯ หากรักษาแย่ต้องจ่ายชดเชย
วันนี้ (13 มิ.ย.) นางสมทรง ศิริรักษ์ ผอ.สำนักสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โทรศัพท์มาสอบถามและร้องเรียนสายด่วนประกันสังคม 1506 ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1 หมื่นสาย ส่วนใหญ่สอบถามและร้องเรียนใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สิทธิประโยชน์และการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 2.บริการทางการแพทย์เนื่องจากได้รับการบริการรักษาพยาบาลที่ไม่ดี 3.สิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ และ 4.สิทธิประโยชน์เมื่อออกจากงาน
“กรณีกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 นั้น มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนกรณีผู้ประกันตนร้องเรียนปัญหาบริการทางการแพทย์นั้นได้ส่งเรื่องต่อให้สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์เพื่อแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนเข้าไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯแล้ว ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่ไม่ดี เช่น ผู้ประกันตนปวดท้องแล้วไปรับการตรวจโรค แต่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯตรวจรักษาไม่ดีบอกว่าป่วยเป็นโรคกระเพาะและให้ยามากิน แต่เมื่อผู้ประกันตนไปตรวจรักษาโรคโรงพยาบาลแห่งอื่นกลับพบว่ามีอาการไส้ติ่งอักเสบ หากมีข้อบ่งชี้ว่า โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯรักษาไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน ประกันสังคมจะต้องจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จำเป็นให้แก่ผู้ประกันตน” นางสมทรง กล่าว
นางสมทรง กล่าวอีกว่า กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุผู้ประกันตนต้องนอนห้องไอซียู ประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ใน 72 ชั่วโมงแรก โดยไม่นับวันหยุด และเบิกค่ารักษาได้วันละ 4,500 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและเสียชีวิต จะต้องมาเบิกเงินจากประกันสังคมภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เกิดสิทธิ เช่น เกิดสิทธิวันที่ 14 มิ.ย.2554 จะต้องมาเบิกเงินภายในวันที่ 13 มิ.ย.2555 โดยกรณีคลอดบุตรเบิกได้ครั้งละ 13,000 บาท ไม่เกิน 2 ครั้ง เมื่อทำเรื่องเบิกแล้ว จะต้องติดต่อรับเงินภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ สปส.แจ้งไป
นางสมทรง กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีว่างงานให้มาขึ้นทะเบียนขอรับเงินทดแทนที่สำนักงานจัดหางานของรัฐในพื้นที่ใดก็ได้ภายใน 30 วันหลังถูกเลิกจ้างหรือลาออกโดยกรณีเลิกจ้างได้เงินทดแทน 50% ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 180 วัน และกรณีลาออกได้เงินทดแทน 30% ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th