ประกันสังคม สุดเอื่อย ลอยแพแรงงานต่างด้าว “ชาลี ดีอยู่” การช่วยเหลือไม่คืบ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนฯ เข้าอุ้ม จ่ายค่ารักษาแทน ส่วนกองทุนเงินทดแทนไม่คืบ ไร้ จนท.ประสานงาน
วันนี้ (28 เม.ย.) นายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติพม่า ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานที่รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยการ ถูกล่ามโซ่กับเตียง จนมีการร้องเรียนและปลดโซ่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.54 ขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างรักษาอาการลำไส้ใหญ่แตก โดยต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่กลับเข้าช่องท้อง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ประสานงานกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ทำหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานกองทุนเงินทดแทนติดต่อดำเนินการเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการรักษานายชาลีกับกับโรงพยาบาลตำรวจแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเเจ้งความคืบหน้าใดๆ ดังนั้น ในการตรวจวันที่ 27 เม.ย.ทาง มสพ.จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเเทนนายชาลีทั้งหมด
นางสาวญาดา หัตถธรรมนูญ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา เผยว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานเรื่องค่าใช้จ่าย คือ ประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีที่ ต้องประสานกับทางนายจ้างของชาลีให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ฝ่ายนายจ้างยังติดผ่อนหนี้กับทางโรงพยาบาลปทุมที่ชาลีเข้ารักษาก่อนหน้านี้อยู่ ทำให้ตอนนี้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ทางตนต้องออกเอง เพราะทางชาลีไม่มีความสามารถจ่ายได้ ทั้งค่าตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ เอ็กซเรย์ลำไส้ โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 2,810 บาท โดยยังเป็นห่วงอนาคต ในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องผ่าตัดอีกหลายหมื่นที่ยังไม่รู้ว่าทางนายจ้างหรือ ทางประกันสังคมจะช่วยรับผิดชอบหรือไม่
“ในวันที่ 2 มิ.ย.54 ชาลีต้องการตรวจประเมินเบื้องตนและเเพทย์นัดเพื่อเอกซเรย์ลำไส้อีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการรับการผ่าตัดลำไส้ต่อไป และชาลียังคงต้องมารับการตรวจกระดูกสะโพก จึง อยากให้ทางประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีช่วยเร่งดำเนินการประสานนายจ้าง หรือนำเงินจากกองทุนมาสำรองมาจ่ายก่อน เพราะเป็นห่วงว่าจะมีผลทำให้การรักษาต้องล่าช้าออกไปอีก” นางสาวญาดา กล่าว
นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้โยบายของกระทรวงเเรงงานที่เน้นความเสมอภาค แต่ที่ผ่านมา กฎหมายรับรองสิทธิการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนยังไม่เอื้อต่อการ เข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ดังเช่น กรณี นายชาลี ที่ประกันสังคม ยืนยันว่า ได้ติดตามให้นายจ้างมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลแแล้ว เเต่ก็ยังมีการเรียกเก็บกับนายชาลี ทั้งที่โดยระบบเเล้วจะต้องมีการเรียกเก็บไปยังกองทุน โดยกองทุนจะต้องสำรองจ่ายก่อน เเล้วจึงเรียกเก็บกับนายจ้าง หรือจะต้องมีการประสานงานล่วงหน้าให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้อง เสียค่าใช่จ่าย
ทั้งนี้ นายชาลี ยังอยู่ในความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา โดยจะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานประกันสังคมต่อไป ซึ่งกรณีของ นายชาลี ดีอยู่ได้ถูกยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาของแรงงานต่างด้าวอีกหลายคนที่ไม่สามารถ เข้าถึงสิทธิการรักษาในกองทุนเงินทดแทนที่อยู่ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ได้