นร.อาชีวะ กู้เงิน กยศ.น้อย สวนทางกับนโยบายรัฐที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ ปลัด ศธ.ตั้งข้อสังเกตอาจเพราะ จนท.ให้ข้อมูลการกู้ กยศ.ไม่ชัดเจน
นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานอนุกรรมการคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง กระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในภูมิภาคระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ตนได้ให้ข้อสังเกตแก่ที่ประชุมหาทางแก้ปัญหายอดผู้เรียนสายอาชีวศึกษามูล กู้เงินน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการเรียนต่อสายวิชาชีพ แต่ปรากฏว่า จำนวนผู้กู้ยืม กยศ.จากสายอาชีวศึกษากลับไม่เพิ่มขึ้น และผู้กู้ยืมจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐบาลก็มีจำนวนน้อยกว่าผู้กู้ยืมของเอกชน
“มองว่า เหตุผลที่ผู้เรียนอาชีวะกู้น้อยน่าจะเป็นเพราะวิทยาลัยอาชีวศึกษา เอกชนมีการเตรียมความพร้อมค่อนข้างดี และคนที่ทำงานกองทุนฯก็ไม่ค่อยเปลี่ยน ขณะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐเปลี่ยนคนทำงานบ่อยหรืออาจไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องการกู้ยืม กยศ.ส่งผลให้ข้อมูลแก่นักศึกษาไม่ทั่วถึง ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารชัดเจน จึงไม่ค่อยมีนักศึกษามาขอกู้เงินเรียน อย่าง ไรก็ตาม มีนักเรียนที่จบ ม.ต้นจำนวนไม่น้อยต้องการเรียนต่ออาชีวศึกษา แต่เนื่องจากต้องเดินทางไกลและเสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะวิทยาลัยอาชีวศึกษาไม่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด จึงจำเป็นจะต้องเรียนต่อ ม.ปลาย ที่เดิม จำนวนเด็กที่เรียนต่อสายสามัญจึงเพิ่มทุกปีจนต้องนำโควตากู้ยืมของอาชีวศึกษาไปเกลี่ยให้ ม.ปลายสายสามัญ ” ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ผู้จัดการ กยศ.ได้รายงานว่า ปีนี้มียอดผู้ชำระเงินกู้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 77 วงเงินที่ชำระเกือบ 100% ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าผู้กู้เงินมีวินัยในตนเองมากขึ้นในการนำเงินมาคืนตามสัญญา ดังนั้น ปีนี้ กยศ.จะเสนอให้นำเงินส่วนนี้มาเพิ่มยอดเงินกู้ให้กับเด็กในภาคเรียนเรียนที่ 2 ต่อไป ทั้งนี้ สภาวการณ์ที่เด็กนำเงินมาชำระคืนกองทุนเพิ่มขึ้นนี้ น่าจะเป็นการชี้ให้เห็นได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจคงดีขึ้น และการว่างงานน่าจะลดลง จึงทำให้เด็กมีเงินมาชำระหนี้ได้มากขึ้น” นายอภิชาติ กล่าว