xs
xsm
sm
md
lg

“นริศรา” สั่งปิด 164 ศูนย์เทียบโอนนอกที่ตั้ง พบไร้คุณภาพ เปิดซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ.
“นริศรา” สั่งปิดศูนย์เทียบโอน ปวช.-ปวส. นอกที่ตั้ง 164 แห่ง จาก 52 วิทยาลัยในสังกัด สอศ. พบไร้คุณภาพ ซ้ำซ้อน ค่าเรียนแพง หลอกกู้ กยศ.ได้ ชี้มีนักศึกษาหลงเรียน 3,000 คนทั่วประเทศ ระบุพร้อมช่วยเหลือโอนย้ายเด็กไปยังสถานศึกษาอื่นในพื้นที่แทน

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ปิดศูนย์เทียบโอนประสบการณ์วิชาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) นอกที่ตั้ง จำนวน 164 ศูนย์ทั่วประเทศที่ดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาในสังกัด สอศ.จำนวน 52 แห่งแล้ว โดยจะให้เด็กที่เรียนอยู่ในภาคเรียนนี้เรียนจบก่อนแล้วจึงให้ปิด ส่วนเด็กที่เหลือจะให้โอนย้ายไปเรียนในสถานศึกษา สังกัดสอศ.ในพื้นที่แทน เช่น ศูนย์บางปะกง ไปเปิดที่ห้างอิมพิเรียลเวิลด์ สำโรง จ.สมุทรปราการ ก็จะให้ปิด และย้ายเด็กไปเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการแทน เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการโอนเด็กไปเรียนในสถานศึกษาที่ใกล้ศูนย์นอกที่ตั้งให้มากที่สุด

“หลังจากปิดศูนย์ฯ แล้ว สอศ.จะจัดทำเกณฑ์การเปิดศูนย์ฯ ขึ้นมาใหม่ เพื่อเน้นการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ มีอุปกรณ์การเรียนการสอน บุคลากร และสถานที่ ให้เป็นไปตามเกณฑ์และมาตรฐานที่ สอศ.จะกำหนดขึ้น ซึ่งแม้ศูนย์จะยุบไปก็มีสิทธิ์จะเปิดขึ้นมาใหม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ไม่เช่นนั้นแล้วการเทียบโอนประสบการณ์วิชาชีพก็จะไม่มีคุณภาพ ซึ่งหลายศูนย์ฯ ที่ดำเนินการกันอยู่ทุกวันนี้บางแห่งเปิดซ้ำซ้อนกับวิทยาลัยของตนเอง มีการเก็บค่าเล่าเรียนแพง หรือมีการอ้างว่าสามารถกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ได้ทั้งที่ดำเนินการไม่ได้ ทั้งนี้ปัจจุบันมีมีนักเรียน นักศึกษาที่เรียนมาเทียบโอนประสบการณ์วิชาชีพในศูนย์ดังกล่าวประมาณ 3,000 คนทั่วประเทศ” รมช.ศธ.กล่าว

ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การเรียนในศูนย์ฯ ต้องมีคุณภาพเช่นเดียวกับการเรียนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.เช่น ระดับ ปวช.จะต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่บางแห่งใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปีเท่านั้น โดยการจัดการเรียนการสอนของศูนย์ฯ นี้เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะมี 4-5 รูปแบบ เช่น เรียนรู้ในชั้นเรียนแต่ให้มาเรียนวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากคนที่มาเทียบโอนประสบการณ์จะทำงานอยู่แล้ว โดยกำหนดให้มาพบกลุ่มอาทิตย์ละ 3 ครั้ง การสอนเสริม การเรียนรู้ด้วยวิธิอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สอศ.จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น