xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยตั้งเป้ารีไซเคิลขยะ 84,000 กิโลฯ ลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรมอนามัย ชู GREEN & CLEAN ร่วมสภาอุตฯ ลดโลกร้อนเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ตั้งเป้ารีไซเคิลขยะ 84,000 กิโลกรัม รณรงค์ให้บริจาคของเหลือใช้ให้วัดสวนแก้ว ส่วนกล่องนมนำไปผลิตหลังคาเขียวให้มูลนิธิเพื่อนพึ่งพา (ภาฯ) ยามยาก ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาต่อไป
 
         

กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรม 8 หมื่น 4 พันกิโลกรัม รวมใจรีไซเคิลเพื่อพ่อ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน กระตุ้นบุคลากรกรมอนามัยและผู้สนใจร่วมกันลดโลกร้อน ตามแนวทาง GREEN & CLEAN พร้อมบริจาควัสดุและสิ่งของที่ไม่ไช้แล้วให้กับวัดสวนแก้วเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และมอบกล่องนมรีไซเคิลให้กับบริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด เพื่อผลิตแผ่นหลังคา
         

วันนี้ (3 มิ.ย.) ดร.นพ.สมยศ  ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการกิจกรรม 8 หมื่น 4 พันกิโลกรัม รวมใจรีไซเคิลเพื่อพ่อ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ว่า ปี 2554 นี้ กรมอนามัยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายรีไซเคิลกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยรู้ถึงคุณค่าของการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ตั้งแต่ต้นทางสู่เป้าหมายการคัดแยกและรวบรวมวัสดุรีไซเคิลให้ได้ 84 ล้านกิโลกรัม จากองค์กรที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายรีไซเคิลในระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ถึงเดือนธันวาคม 2554

กรมอนามัยได้ดำเนินการโดยใช้หลัก GREEN & CLEAN ที่รณรงค์ให้โรงพยาบาลและสถานีอนามัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศเป็นหน่วยงานลดโลกร้อน โดยกิจกรรม GREEN จะมีเกณฑ์มาตรฐาน 5 ข้อ คือ 1) G : Garbage  มีการจัดการมูลฝอยและการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูล 2) R : Rest Room พัฒนาส้วมในสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) 3) E : Energy ลดการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานทดแทนจากชีวภาพและชีวมวลกันมากขึ้น 4) E : Environment จัดการสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนและเอื้อต่อสุชภาพ และ 5) N : Nutrition รณรงค์ให้กินผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง เพื่อลดการใช้สารเคมีและการขนส่ง 
         

ดร.นพ.สมยศกล่าวต่อไปว่า สำหรับกลยุทธ์ CLEAN มีเกณฑ์มาตรฐาน 5 ข้อเช่นเดียวกัน คือ 1) C : Communication  สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรของหน่วยงานและประชาชนรับรู้ เข้าใจ และเกิดความตระหนักถึงภาวะโลกร้อน 2) L : Leader เป็นผู้นำดำเนินการลดโลกร้อนในรูปชองหน่วยงานและตนเอง 3) E : Effectiveness วางแผนดำเนินงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผล 4) A : Activity  ดำเนินกิจกรรม  ลดโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง  และ 5) N : Networking ร่วมมือประสานใจจากทุกภาคส่วน โดยกิจกรรมรีไซเคิลลดโลกร้อนครั้งนี้ กรมอนามัยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 84,000 กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการรวบรวมได้แล้วประมาณ 26,000 กิโลกรัม
         

ดร.นพ.สมยศกล่าวต่อว่า ภาวะโลกร้อนนอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว  ยังเป็นตัวการทีทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วย การระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ พาหะนำโรคเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาด้านการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ อนามัยสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านโภชนาการจากการขาดแคลนอาหารและน้ำ ดังนั้น ความเชื่อมโยงของงานด้านสาธารณสุขที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในกาลดปัญหาโลกร้อนคือ การสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน เน้นการทำสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เพื่อตัดวงจรของโรคตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย การจัดการของเสียหรือสิ่งปฏิกูลเพื่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีผลทำให้ก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียลดลง และส่งผลโดยตรงต่อการลดโลกร้อนและสุขภาพอนามัยของคนไทย
         

“ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรม 8 หมื่น 4 พันกิโลกรัม รวมใจรีไซเคิลเพื่อพ่อ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่กรมอนามัยต้องการกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้บุคลากรและผู้ที่สนใจรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน ด้วยการรณรงค์ให้บุคลากรมีส่วนร่วมบริจาควัสดุ สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วหรือชำรุดเสียหายนำมามอบให้กับวัดสวนแก้ว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และในส่วนขยะประเภทกล่องนมก็ได้รวบรวมเพื่อมอบให้กับบริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด ได้นำกลับไปผลิตเป็นแผ่นหลังคาหรือที่เรียกว่าหลังคาเขียว มอบให้มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนต่างๆ ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด
 ด้าน  นายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า   ปัจจุบันขยะในประเทศไทยมีสูงถึงวันละ 4 หมื่นตัน  โดยสามารถนำไปทำรีไซเคิลได้มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะทั่วไป รองลงมาคือ ขยะเปียก ส่วนขยะอันตราย จำพวกสารเคมีต่างๆ ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้  ต้องกำจัดทิ้งอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันขยะที่นำไปรีไซเคิลยังน้อยมาก ทั้งๆที่ขยะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ 2 หน้าที่ใช้งานหมดแล้วยังนำไปใช้ประโยชน์ในผู้พิการทางสายตา โดยนำมาทำเป็นกระดาษที่เป็นอักษรเบลล์ 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น