คนงานส่อแห้วปรับค่าจ้างกลางปี นายจ้างอ้างได้รับผลกระทบหลังขึ้นเมื่อต้นปี อยากเห็นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ บังคับใช้ 28 ก.ค.นี้ก่อน วอนรัฐควบคุมราคาสินค้า เหตุปรับขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำ
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน ดร.อำมร เชาวลิต ประธานอนุกรรมการค่าจ้างกรุงเทพฯ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ครั้ง 1/2554 ว่า ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาปรับตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯแต่อย่างใด เพียงแต่รับทราบข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับค่าจ้างเท่านั้น เช่น ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการหลังที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ต่างระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังปรับค่าจ้าง รวมทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้น สำหรับกรุงเทพฯ อยู่ที่ร้อยละ 3.06 ส่วนทั่วประเทศอยู่ที่ 3.27 อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ในส่วนของ กทม.นั้นยังไม่มีการเสนอตัวเลขขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และตนก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างในกลางปีที่จะถึงนี้หรือไม่
ทั้งนี้ อนุกรรมการทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง มองว่า อยากเห็นการดำเนินการเรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และมีความเห็นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ถีบตัวสูงขึ้น ย่อมกระทบทุกฝ่าย ที่สำคัญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ
ด้านนายอรรทยุทธ ลียะวนิช อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า หลังปรับค่าจ้างเมื่อต้นปี นายจ้างส่วนใหญ่ต่างร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบ โดยการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำในปีที่ผ่านมา เมื่อคำนวณแล้วพบว่านายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท โดยมองว่าการปรับค่าจ้างมีการนำเรื่องคุณภาพชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงขอวิงวอนไปยังรัฐบาลควรควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้น เพราะเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ราคาสินค้าก็เพิ่มไปด้วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชน