xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจสปาปลาเปลี่ยนชื่อเป็น “ฟิช ทรีทเมนท์” ยึด7มาตรฐานบริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สบส.เผย ผู้ประกอบการเห็นชอบชื่อ “ฟิช ทรีทเมนท์” ใช้แทนสปาปลา  เชื่อเหมาะสมกับบริการ-นักท่องเที่ยวเข้าใจได้ ส่วนมาตรฐานการบริการคง 7 ข้อเดิม

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กล่าวถึงความคืบหน้าของการเรียกผู้ประกอบการเข้าหารือ ในเรื่องการประกอบธุรกิจบริการทำสปาปลา (Fish Spa) ซึ่งก่อนหน้านี้ มียังมีการถกเถียงกันในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อของบริการ ซึ่งอาจเปลี่ยนจากสปาปลา มาเป็น ฟิช ทรีทเมนท์ (Fish Treatment) และ ฟิช เทอราปี (fish therapy)  ว่า หลังจากที่ได้เรียกหลายหน่วยงานเข้าหารือเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น  ผลปรากฏว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมทุกท่านตกลงเห็นชอบในชื่อ ฟิช ทรีทเมนท์ (Fish Treatment) หรือเรียกว่า  การบริการผ่อนคลายด้วยปลา โดยการประกอบธรุกิจบริการดังกล่าวยังคงใช้มาตรฐานที่ สธ.มีเช่นเดิมทุกอย่าง แต่เปลี่ยนชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับบริการเท่านั้น 
 
นพ.ภัทรพล กล่าวด้วยว่า  สำหรับแนวทางการในการให้บริการ ฟิช ทรีทเมนท์ นั้น มี  สบส.ได้จัดทำร่างมาตรฐานการบริการใน  7 มาตรฐาน ได้แก่ 1.สถานที่ 2.ชื่อ 3.ปลาที่ให้บริการ 4.การบริการ 5.อุปกรณ์เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ 6.ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และ 7.การเฝ้าระวังการติดเชื้อ โดยปลาที่ใช้ในบริการจะต้องมีขนาดประมาณ 2-4 นิ้ว ต้องไม่มีฟันบนขากรรไกร เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลเล็กๆ อาจทำให้ติดเชื้อภายหลังได้ และต้องมาจากฟาร์มมาตรฐานของกรมประมง ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ จะต้องมีระบบการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือ ยูวี มีระบบตัวกรองน้ำชนิดละเอียดมีประสิทธิภาพในการกรองตะกอนต่างๆ ที่เกิดจากการขับถ่าย หรือคราบไคลของผู้ใช้บริการ น้ำจะต้องมีความใส ผ้าที่เช็ดทำความสะอาดเท้าของผู้รับบริการ ต้องผ่านการซักทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน และความสะอาดของสุขาภิบาลในพื้นที่ ต้องไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก    น้ำที่ใช้มีระบบน้ำหมุนเวียนเข้าอ่างตลอด 24 ชั่วโมง ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมด และเปลี่ยนวัสดุกรองชนิดละเอียดทุกวัน

“แม้ว่า ชื่อ ฟิช ทรีทเมนท์ จะเป็นชื่อใหม่ก็ตาม แต่เชื่อว่า ไม่กระทบต่อความมั่นใจในการเลือกใช้บริการของนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้บริการกันมาก และเชื่อว่า ชื่อดังกล่าวก็สร้างความเข้าใจในบริการได้ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องการออกมาตรฐานใบรับรองจาก สธ.ที่ผู้ประกอบการเคยร้องขอ โดยเชื่อว่า จะสามารถสร้างความมั่นใจแก่บริการได้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีตราหรือเอกสาร หรือสัญลักษณ์ใดสำหรับการรับรองดังกล่าว แต่หากในอนาคตมีการรวมตัวกันในรูปแบบสมาคมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะแล้วเข้ามาหารือกับ สธ.ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรวมตัวของสมาคมดังกล่าว” นพ.ภัทรพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น