xs
xsm
sm
md
lg

วธ.นัดผู้ประกอบการถกเรื่องเรตติ้งตัวแทน นศ. ชี้สื่อไทยมีเสรีภาพแต่ไร้จริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วธ.จับมือสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุฯ เตรียมเชิญผู้ประกอบการนัดถกการจัดเรตติ้ง ขณะที่ตัวแทนนักศึกษาสะท้อนมุมมองสื่อไทยมีเสรีนำเสนอแต่กลับไร้จริยธรรม นำเสนอแต่เนื้อหาภาษาที่มีความรุนแรงและผิดเพี้ยน ด้านรองคณบดีนิเทศฯ ศรีปทุม เผยงานวิจัยเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พบมีเพียง 2แห่งที่ให้ความรู้เด็กนิเทศฯ เท่าทันสื่อ

วันนี้ (12 พ.ค.) สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดประชุมวิชาการ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนนิสิต นักศึกษา มาสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อในสังคมปัจจุบัน พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ นักศึกษาส่วนใหญ่มองว่าขณะนี้สื่อทุกแขนงได้รับอิสระมีเสรีภาพในการนำเสนอ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบทางด้านลบ คือ การที่เนื้อหาการนำเสนอมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีประเด็นชู้สาวเกิดขึ้น โดยเฉพาะในแง่การนำเสนอสื่อบันเทิง ทำให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีด้านเพศ การใช้ภาษาที่รุนแรง รวมทั้งใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยน โดยบางคำสะกดผิด แต่กลายเป็นว่าใช้จนชินคิดว่าเป็นคำถูกไปแล้ว

น.ส.ลัดดากล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังเห็นว่าทางผู้ผลิตเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าคิดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เห็นได้จากละครหลายๆ เรื่อง ที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าเนื้อหา ภาษา บทประพันธ์จะดี แต่พฤติกรรมของตัวละครไม่เหมาะสมมาก เมื่อเด็กและเยาวชนที่ไม่มีวุฒิภาวะชม ก็อาจจะต้องการมีพฤติกรรมเหมือนตัวละครนั้นๆ เช่น ละครเรื่องดอกส้มสีทอง ผู้ชมจะจำภาพว่าเรยาเป็นสาวสวย มีผู้ชายมาชอบมาก ต้องการใครก็จะพยายามทำให้ได้มา และถ้าเด็กดู ก็จะมีความคิดว่าอยากเป็นเหมือนนางเอกในละคร ซึ่งถือว่าน่ากังวลมาก ทั้งนี้ตัวแทนนักศึกษาได้เสนอให้มีกลไกที่สำคัญใน การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อที่เคร่งครัด รวมทั้งให้ผู้ปกครองให้คำอธิบายกับเด็กเมื่อชมภาพยนตร์ด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนความคืบหน้าในการจัดเวทีกลางในการหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ใหม่นั้น ขณะนี้ได้ตนได้หารือร่วมกับนางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในการประสานไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เพื่อมาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อจัดทำเรตติ้งใหม่แล้ว

ขณะที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลต่อสังคมมาก ก่อให้เกิดการเลียนแบบ ค่านิยมที่ไม่ดีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กและเยาวชนสามารถรู้ทันสื่อให้มากขึ้น ซึ่งจากการที่ตนได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 170 แห่ง พบประเด็นที่น่าตกใจคือ มีมหาวิทยาลัยเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีการเปิดสอนเกี่ยวกับการให้ความรู้นักศึกษาเท่าทันสื่อ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่ประเทศไทย ได้ขยายฐานการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์มากขึ้น แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เท่าทันสื่อ แต่อย่างไรก็ตามตนคิดว่าการสอนให้มีความรู้เท่าทันสื่อควรจะมีการสร้างขึ้นตั้งแต่เด็กและบูรณาการเข้าไปกับการเรียนได้ทุกวิชา ให้เด็กมีวิจารณญาณและมีภูมิคุ้มกันในการชม ที่สำคัญนักศึกษานิเทศศาสตร์ก็ควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสื่อให้มากด้วย เพราะเป็นผู้ผลิตสื่อเอง มีการปรุงแต่ง มีการเพิ่มค่านิยมในสิ่งที่เจ้าของเงินทุนต้องการตามกลไกทางธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น