สสส.-กทม. รณรงค์ “วันพระใหญ่ไม่ขายเหล้า” ชี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขานรับ แต่ยังพบโชวห่วย-ร้านค้าในชุมชนแหกคอก ย้ำ 17 พ.ค.งัดกฎหมายคุม โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น “รองผู้ว่าฯ กทม.” เตรียมทำสปอตวิทยุ สอดแทรกมาตรการเข้าสู่ชุมชน หลังพบ ปชช.ยังดื่มหนัก 18.4% ขณะที่ “เด็กบ้านกาญจนาฯ” สะท้อนชีวิตที่เคยก้าวพลาด ต้องโทษตั้งแต่อายุ 15 ปี เหตุเพราะน้ำเมา
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่สถานีขนส่งหมอชิต เมื่อเวลา 11.00 น. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานรณรงค์ “กทม.ร่วมใจ วันพระใหญ่ไม่ขายเหล้า” โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม เช่น สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยในงานมีตัวแทนเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เข้าร่วมรณรงค์และถ่ายทอดบทเรียนชีวิตที่ก้าวพลาดด้วย
โดย พญ.มาลินีกล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) เริ่มมีผลควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ประกอบด้วย วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยยกเว้นการขายในโรงแรม ซึ่งวันวิสาขบูชาที่จะถึงในวันที่ 17 พ.ค.นี้จะเริ่มควบคุมห้ามไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลา 24.00 น. โดยจะเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 16 พ.ค.ไปจนถึง 24.00 น.ของวันที่ 17 พ.ค. หากตรวจสอบพบผู้ฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีทันที โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พญ.มาลินี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โดยรวมยังพบว่า ร้านค้ารายใหญ่ เช่น มินิมาร์ท ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ให้ความร่วมมือดี มีการติดป้ายแจ้งชัดเจน ซึ่งร้านอาหารใหญ่ๆ ส่วนมากก็เลือกที่จะปิดร้าน เพื่อให้เป็นวันพักผ่อนของพนักงาน บางแห่งเปิดขายเฉพาะอาหาร แต่จากการะเฝ้าระวังพบว่า ร้านอาหารเล็กๆ ยังลักลอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ รวมไปถึงโชวห่วยรายย่อย ร้านค้าในชุมชน ที่ยังไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย ดังนั้น สิ่งที่ กทม.จะทำ คือ การประชาสัมพันธ์ในการประชุมคณะกรรมการชุมชนของสำนักงานเขต และการประชุมอาสาสมัครสาธารณสุข เร่งรณรงค์เข้าถึงชุมชนด้วยการทำซีดี สปอตวิทยุ จำนวน 2,000 แผ่น เพื่อรณรงค์ให้เสียงตามสายของชุมชน รวมถึงวิทยุชุมชน ช่วยกันเปิดเพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นในลักษณะละครวิทยุที่สอดแทรกความเข้าใจด้านกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สถานที่ห้ามขายห้ามดื่ม วันและเวลาห้ามขาย รวมถึงการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การห้ามใช้ให้เด็กไปซื้อเหล้า เป็นต้น นอกจากนี้มาตรการอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ ขยายผลจากชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย ซึ่งกำหนดเป็นชุมชนนำร่อง และจะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ โดยบูรณาการเข้ากับพื้นที่ที่มีการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดเหล้านำร่อง เพื่อให้ร้านค้าในชุมชนปฏิบัติตามกฎหมาย และจะเร่งรณรงค์การไม่ขายเหล้าให้แก่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
นางสุภาวดี ถิระพานิช ที่ปรึกษาด้านภาคีสัมพันธ์ สสส.กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เรียบเรียงโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุราต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2550 ในพื้นที่ กทม.พบว่า ผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มแอลกอฮอล์มากถึงร้อยละ 21.2 และไม่ดื่มร้อยละ 75.3 ทั้งนี้ ในรอบ 12 เดือน พบว่า มีสัดส่วนผู้ดื่มประจำร้อยละ 44.0 ผู้ที่ดื่มหนักถึงร้อยละ 18.4 อายุที่ดื่มส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ 20-60 ปี เครื่องดื่มที่นิยมมากที่สุด คือ เบียร์ ร้อยละ 74.21 สุราไทย ร้อยละ 28.72 ตามด้วยสุราต่างประเทศ ร้อยละ 11.01 ส่วนค่าใช้จ่ายในการดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ 565 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ร้อยละ 32.9 ระบุว่าดื่มในที่สาธารณะ
“สำหรับวันวิสาขบูชา นอกจากจะเป็นวันงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ในปี 2554 นี้จะเป็นปีที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี และคนไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ควรจะร่วมกันฉลองพุทธชยันตี และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษาในปีนี้ ดัง นั้นจึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมกัน ไม่ขาย ไม่ดื่มน้ำเมา ในวันพระใหญ่ และใครสามารถทำได้ทุกวันพระก็จะถือว่าเป็นกุศล โดยเริ่มกันได้ตั้งแต่วันวิสาขบูชานี้” นางสุภาวดี กล่าว
ด้าน นายเอ (นามสมมติ) อายุ 22 ปี เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตอนนั้นอายุได้เพียง 15 ปี ยอมรับว่าเกเร ติดเพื่อน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และเที่ยวตามสถานบันเทิงบ่อยครั้ง ทั้งที่อายุยังไม่ถึง แต่พนักงานก็ปล่อยให้เข้าไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องตรวจบัตร และเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน คือ เมาสุราแล้วมีเรื่องทะเลาะวิวาท ชกต่อย จนทำให้คู่อริถึงขั้นเสียชีวิต จากนั้นตนถูกตำรวจจับข้อหาพยายามฆ่า ต้องถูกส่งตัวไปอยู่ที่สถานพินิจ และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกาญจนา
“ตอนที่ทางบ้านผม ทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้อง รู้ข่าวก็เสียใจมาก หากย้อนเวลากลับไปได้คงไม่ดื่มเหล้า ไม่ทำร้ายใคร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ที่เกิดจากอาการเมาแล้วขาดสติ ซึ่งครอบครัวของผู้เสียชีวิต คงทำใจได้ยากเพราะลูกชายที่กำลังมีอนาคตต้องมาจบชีวิตเพราะผม อย่างไรก็ตาม ผมอยากฝากไปถึงเยาวชนว่าไม่ควรคิดลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ดื่มก็ควรเลิก นอกจากนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย การหยุดขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนานั้นเชื่อว่าผู้ประกอบการคงไม่กระทบมากนัก” นายเอกล่าว