xs
xsm
sm
md
lg

สพฉ.เตือนประชาชนกลับบ้านพื้นที่ปะทะระวังภัยระเบิดตกค้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค
สพฉ.เตือนประชาชนที่เดินทางกลับบ้านในพื้นที่ที่มีการใช้อาวุธหนัก ระวังภัยระเบิดตกค้างจากการเก็บกู้ ย้ำหากพบให้เเจ้งเจ้าหน้าที่ ยันการเเพทย์ฉุกเฉินจังหวัดพร้อมรับมือ

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการเเพทย์ฉุกเฉินเเห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์และหน่วยงานความมั่นคงประเมินสถานการณ์และให้ประชาชนเดินทางกลับเข้าพื้นที่ได้ตามปกติ แต่กังวลว่าอาจมีกระสุนปืนใหญ่และสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิดตกค้าง เช่น กระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนที่ยังไม่ระเบิด ว่าในเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินขอแนะนำว่า หากเกิดเหตุระเบิดขึ้นจากระเบิดที่ยังไม่ทำงาน สพฉ.ได้เตรียมพร้อมรับมือโดยจะปรับใช้โมเดลการกู้ชีพฉุกเฉินที่เคยใช้ในการซ้อมเเผนอุบัติภัยจากทุ่นระเบิด ที่ดำเนินการในเเถบจังหวัดชายแดนตะวันออกมาปรับใช้ เพื่อดำเนินการประสานหน่วยงานเก็บกู้วัตถุระเบิด เพื่อตรวจสอบเเละเคลียร์พื้นที่ กั้นพื้นที่ปลอดภัย ก่อนนำผู้บาดเจ็บออกมารับการรักษา ณ จุดปลอดภัย

“หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด อย่ารีบเข้าไปช่วยคนเจ็บด้วยตนเอง เพราะอาจจะมีลูกระเบิดอื่นๆ ที่ไม่ได้สังเกต อยู่รอบๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเหตุซ้ำ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเเละพิการ ขอให้งดการเข้าเขตหวงห้าม ที่เจ้าหน้าที่ทหารกำลังเร่งมือเก็บกู้อยู่ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะเเจ้งว่าปลอดภัย เเละอย่าจับ เคลื่อนย้าย เเละระวังมิให้เด็กเล่นวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด”

ด้านนพ.สะอาด วีระเจริญ นายเเพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หากมีการบาดเจ็บจากระเบิดที่ไม่ทำงาน ที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน การแพทย์ฉุกเฉินในระดับจังหวัด มีแผนเตรียมพร้อมคือจะประสานงานหน่วยเก็บกู้ระเบิดเพื่อสำรวจพื้นที่ เก็บกู้สรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิด และประสานงานการรักษา ณ จุดเกิดเหตุ เเละลำเลียงผู้ได้รับบาดเจ็บมาเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่นางอนงค์ มณีสรี ผู้ดูเเลงานการเเพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่เดินทางกลับพื้นที่เเละพบวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ขอให้ปฏิบัติตามคำเเนะนำที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ก่อนหน้านี้โดยเคร่งครัด กรุณาอย่าเคลื่อนย้าย หรือทำลายด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดเหตุระเบิดได้ หากพบให้เเจ้งเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อเก็บกู้ต่อไป"

“ในกรณีที่มีเหตุระเบิดขึ้นเเล้ว ขอให้โทร.1669 (บริการฟรี) ซึ่งเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ศูนย์สั่งการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมจะประสานงานทุกขั้นตอนกับหน่วยเก็บกู้ เเละชุดปฏิบัติการการเเพทย์ฉุกเฉินนำผู้บาดเจ็บได้รับส่งมายังพื้นที่ปลอดภัยและรับการรักษาต่อไป” นางอนงค์กล่าว

สำหรับศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ของจังหวัดสุรินทร์มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) 15 หน่วย หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับต้น (BLS) จำนวน 3 หน่วย และหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จำนวน 176 หน่วย พร้อมมีแพทย์พยาบาล จำนวน 240 คน เจ้าหน้าที่ EMT-I จำนวน 53 คน EMS - B จำนวน 17 คน และผู้ปฏิบัติการการเเพทย์ฉุกเฉินขั้นต้น (FR) จำนวน 2,567 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น