เอแบคโพลล์ เผย เด็กโหวตชอบครูที่เก่ง-มีความสามารถมากที่สุด เผยเด็กบางส่วนระบุไม่ชอบครู ดุ อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และครูที่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน โดยเด็กให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้มากกว่าการที่ครูสอนไม่เก่ง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบคโพลล์) เปิดเผยถึงผลการสำรวจ “ครูแบบไหน ได้ใจเด็ก” โดยสุ่มตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 7-20 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา รวมทั้งสิ้น 3,284 ตัวอย่าง พบว่า ค่าเฉลี่ยคุณลักษณะในด้านต่างๆ ของครูที่สอนในปัจจุบัน
โดยเด็กกลุ่มตัวอย่างลงคะแนนให้ครูครูเก่ง มีความรู้ ความสามารถค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.38 ในขณะที่ครูมีการพัฒนา ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอๆ ได้คะแนน 8.20 ตามด้วยครูมีความประพฤติดี เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก 8.16 และครูดูแลเอาใจใส่เด็กได้คะแนน 8.06
อย่างไรก็ตาม คะแนนจากเด็กๆ โหวตให้ครูสอนเข้าใจ สามารถอธิบาย ถ่ายทอดความรู้ได้ดีที่8.03 และให้ครูมีส่วนร่วมพัฒนาสถานศึกษา ชุมชน และสังคม 7.87 ส่วน ครูพูดจาดี ไพเราะ ได้คะแนน 7.84 ตามด้วยครูอารมณ์ดี ไม่โมโหง่าย ได้ 7.43 คะแนน และปิดท้ายที่ ความพึงพอใจต่อครูโดยภาพรวมได้คะแนนเฉลี่ย 8.34
โดยภาพรวมคุณลักษณะของคุณครูที่พึงประสงค์ในประสบการณ์ของเด็กนักเรียนอยู่ในค่าเฉลี่ยที่สูงระหว่าง 7-8 กว่าๆ ในทุกตัวชี้วัดเมื่อค่าคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้แก่ ความรู้ความสามารถ การพัฒนาหาความรู้เพิ่มเติม การประพฤติเป็นตัวอย่างที่ดี ดูแลเอาใจใส่เด็ก ความสามารถในการถ่ายทอด พูดจาดี และการควบคุมอารมณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกเด็กนักเรียนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนร่ำรวย และเด็กที่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะปานกลางจนถึงยากจน พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กที่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะปานกลางจนถึงยากจน เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าได้พบคุณลักษณะของคุณครูที่พึงประสงค์ “ด้อยกว่า” ในทุกตัวชี้วัด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่อง “อารมณ์ดี ไม่โมโหง่าย” ในกลุ่มเด็กที่คิดว่าตนเองร่ำรวยมีค่าเฉลี่ยได้พบครูที่พูดจาดีไม่โมโหง่ายมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 7.98 คะแนน แต่ในกลุ่มเด็กฐานะปานกลางและยากจน พบค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าคือ 7.37 เท่านั้น
เช่นเดียวกับ คุณครูที่พูดจาดี ไพเราะ ผลสำรวจพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มเด็กที่คิดว่าร่ำรวย กับกลุ่มเด็กที่คิดว่ามีฐานะยากจนกว่า โดยพบว่า เด็กที่คิดว่าร่ำรวยพบคุณครูที่พูดจาดี ไพเราะมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 8.22 แต่ในกลุ่มเด็กที่ยากจนกว่ามีค่าเฉลี่ยของการพบครูที่พูดจาดี ไพเราะอยู่ที่ 7.80 คะแนน เท่านั้น
กลุ่มนักเรียนที่เคยพบเจอครูสอนดีมากที่สุดและรองๆ ลงไป 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 25.8 ระบุเป็นคุณครูสอนคณิตศาสตร์ อันดับสองได้แก่ ร้อยละ 19.5 ระบุคุณครูสอนภาษาไทย อันดับที่สามได้แก่ ร้อยละ 12.4 ระบุคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ อันดับที่สี่ได้แก่ ร้อยละ 9.9 ระบุคุณครูสอนภาษาอังกฤษ และร้อยละ 8.2 ระบุคุณครูสอนสังคมศาสตร์ ตามลำดับ
เด็กบางส่วนก็มีประสบการณ์ในการพบกับครูที่สอนไม่ดี โดยเฉพาะครูที่มีลักษณะดุ อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และครูที่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน โดยเด็กให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้มากกว่าการที่ครูสอนไม่เก่ง อธิบายไม่รู้เรื่อง หรือเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีความรู้