xs
xsm
sm
md
lg

กิมจิงัดไม้แข็งคุมติวเตอร์เอกชน ชูระบบใหม่เน้นทักษะ-ครีเอทีฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ สำนักงานใหญ่ของหนึ่งในระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก เจ้าหน้าที่กำลังคร่ำเคร่งตรวจสอบหลังแวะเวียนไปยังสถานที่ เช่น คิดส์ คอลเลจ และแมต แคมป์หลายรอบ
เจ้าหน้าที่สอบสวนซอกซอนไปตามถนนสายต่างๆ ตามเบาะแสที่ได้รับจากเว็บไซต์องค์กรตรวจสอบซึ่งรายงานข่าวติวเตอร์ที่คิดค่าสอนแพงเกินเหตุหรือสอนเกินเวลาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4 ทุ่ม
การตรวจค้นโรงเรียนกวดวิชาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของประธานาธิบดีลีเมียงบัค เพื่อดึงอำนาจควบคุมการศึกษา กลับคืนมาจากอุตสาหกรรมกวดวิชาเอกชนของโสมขาว ที่มีนักเรียนถึง 3 ใน 4 สมัครเรียน ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดในโลก
ผู้นำเกาหลีใต้หวังฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาของประเทศ และลดภาระทางการเงินและจิตใจของประชาชน
ลีจูโฮ รัฐมนตรีศึกษาธิการ บอกว่าหนึ่งในจุดแข็งของแดนกิมจิคือความเต็มใจของพ่อแม่ผู้ปกครองในการลงทุนในการเล่าเรียนของลูก แต่พลังงานเหล่านั้นกลับทุ่มเทให้กับการทำคะแนนให้ได้สูงๆ ไม่ใช่การสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์หรือแง่มุมอื่นๆ ด้านธรรมชาติของมนุษย์
โดยสถิติแล้ว ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้เป็นที่อิจฉาของประเทศมากมาย เนื่องจากนักเรียนแดนกิมจิกวาดคะแนนการทดสอบคณิตศาสตร์และการอ่านสูงสุดอันดับท็อป 5 ของโลก และจำนวนเด็กลาออกจากโรงเรียนกลางคันมีไม่ถึง 4% ขณะที่จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงถึง 56% ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มที่สูงสุดในโลก
แต่คนเกาหลีใต้มากมายบอกว่าการชื่นชมต่อความสำเร็จเหล่านั้นมักมองข้ามที่มาที่ไปและต้นทุนที่ต้องจ่าย ปี 2009 ชาวอารีดังจ่ายเงินให้ติวเตอร์เอกชน 19,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทั้งการติวภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และการเตรียมตัวเอนทรานซ์
ความเข้มข้นด้านวิชาการที่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันกำลังถูกวิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายพุ่งขึ้นและอัตราเกิดลดลง เนื่องจากว่าที่พ่อแม่คิดหนักเรื่องภาระค่าเล่าเรียนลูกในอนาคต การแข่งขันรุนแรงยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนหนีออกไปเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ดึงดูดเด็กหัวดีและทำให้ครอบครัวต้องห่างเหินกัน
สถาบันการศึกษากวดวิชาภาคเอกชนที่แพร่หลายเป็นดอกเห็ดในเกาหลีใต้ ครอบคลุมตั้งแต่เครือแฟรนไชส์ที่ตกแต่งอย่างหรู โรงเรียนกวดวิชาเล็กๆ คลาสออนไลน์ที่ใช้เซเลบเป็นคนสอน ไปจนถึงศูนย์ติวเตอร์ผิดกฎหมายหลังเที่ยงคืน
มาร์ก เบรย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ศึกษาโรงเรียนกวดวิชาเอกชน บอกว่าโรงเรียน ‘เงา’ พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกและกำลังแพร่หลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อความนิยมในการใช้การสอบเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบความสามารถของนักเรียน โรงเรียนและประเทศ
บริษัทวิจัย เอดู เวนเจอร์เสริมว่า ในอเมริกา อุตสาหกรรมนี้ก็ไม่ใช่เล็กๆ โดยมีมูลค่า 5,000-7,000 ล้านดอลลาร์
แต่ไม่มีที่ไหนที่โรงเรียนกวดวิชาขลังเท่าเกาหลีใต้อีกแล้ว เพราะถึงขั้นที่ไม่เรียนไม่ได้ ครอบครัวชาวเกาหลีใต้เฉลี่ยแล้วใช้รายได้ 20% เป็นค่ากวดวิชาให้ลูก ทั้งนี้ จากรายงานของสถาบันวิจัยฮุนได
คิมฮีจง ที่อาศัยอยู่ในม็อกดอง ย่านผู้มีอันจะกินในโซล เจียดเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ให้แก่โรงเรียนกวดวิชาเอกชนสำหรับลูกชายที่เรียนอยู่เกรด 3 ทั้งวิชาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่นี่ยังไม่รวมคลาสฟุตบอล สเก็ต เปียโน ไวโอลินและภาษาจีน
คิมกังวลว่าลูกชายจะหมกมุ่นเกินไปสำหรับเด็กวัยขนาดนี้ แต่ก็คิดว่าชั้นเรียนในโรงเรียนรัฐบาลใหญ่เกินกว่าที่จะให้ความสนใจนักเรียนได้ทั่วถึง
ทางการพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ประสบความสำเร็จน้อยมากในการควบคุมโรงเรียนกวดวิชาเอกชน ซึ่งรวมถึงการสั่งแบนเด็ดขาดในทศวรรษ 1980 ที่ในที่สุดแล้วก็ต้องค่อยๆ เลิกล้มไป อย่างไรก็ตาม มีความสำเร็จที่พอให้กำลังใจอยู่บ้าง เมื่อการใช้เงินในการกวดวิชาได้ลดลงเล็กน้อยในปีที่แล้ว โดยที่กระทรวงศึกษาฯ ยกเครดิตให้นโยบายใหม่
หลักชัยของแผนการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงระยะยาวอย่างมีเป้าหมายแน่ชัด ในเรื่องระบบเอนทรานซ์ที่เน้นการสอบ กระทรวงศึกษาฯ เริ่มให้ทุนและฝึกฝนเจ้าหน้าที่รับสมัครนักศึกษาของบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำ เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกแบบอเมริกา ที่พิจารณาเรื่องทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้อย่างอิสระมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความพยายามในระดับท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวโรงเรียนกวดวิชาในโซลที่เวลา 4 ทุ่ม เพื่อช่วยบังคับใช้กฎเหล่านี้ กระทรวงศึกษาฯ ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมติดตาม ตลอดจนเสนอรางวัลเงินสดให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผู้ละเมิด
เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการศึกษา รัฐบาลได้เปิดตัวระบบการประเมินครูแบบอนุรักษนิยม รวมถึงการทดสอบที่มีมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนต่างๆ แข่งขันกัน และยังเสนอการกวดวิชาหลังเลิกเรียนในโรงเรียนรัฐบาลและทางทีวี
ปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาฯ ตัดสินใจว่าคำถามในข้อสอบเอนทรานซ์ 70% ต้องอิงกับบทเรียนในระบบการเผยแพร่การศึกษา (อีบีเอส) ที่รัฐบาลให้ทุนสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนหันมาสนใจระบบนี้
หนึ่งในผู้จัดของอีบีเอสคือ ไบรอัน รี ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกันวัย 39 ปี ที่ย้ายมาอยู่บ้านพ่อแม่กว่าทศวรรษเพื่อเรียนภาษาเกาหลีและทำอาชีพนักแสดง แต่ระหว่างนั้นเขาพบว่าตัวเองอยากทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ
ปี 2008 ไบรอันเปิดโรงเรียนกวดวิชาและสนับสนุนให้ผู้ปกครองมองไกลกว่าการสอบครั้งหน้า แต่เป็นการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกไร้พรมแดนให้ลูก และไม่ยัดเยียดความรู้อัดแน่นสมองเด็ก จนผู้ปกครองเริ่มไม่มั่นใจ และไบรอันปิดโรงเรียนเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว
ยังกองโชล ผู้จัดการโรงงานและคุณพ่อลูกสอง จ่ายเงินค่ากวดวิชาภาคดึกให้ลูกสาวคนโตมา 6 ปี แต่ลูกสาวยังเอนทรานซ์ไม่ติด
“เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์จริงๆ” เขารำพึงรำพัน
ส่วนลูกสาวคนเล็กเรียนด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และกำลังรอระบบเอนทรานซ์ใหม่ที่นักเรียนทั่วไปจะสามารถแข่งขันกับนักเรียนที่จ้างติวเตอร์ดังๆ ได้ง่ายขึ้น
“ความหวังของผมคือวันหนึ่งระบบการศึกษาสาธารณะจะมีที่ว่างเพียงพอสำหรับนักเรียนทั้งหลาย” ยังทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น