ยุคนี้เรียกได้ว่า เป็นยุคของสุภาพสตรีที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจ แต่ลึกๆ แล้วผู้หญิงหลายคนยังทำใจยอมรับกับการตรวจภายในไม่ได้ ด้วยความอายส่วนนี้ส่งผลให้ประเทศไทยมีผู้หญิงหลายคนตกเป็นเหยื่อของโรคมะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix) พุ่งสูงราวปีละ 10,000 ราย โดยส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะท้ายๆ ที่เชื้อเอชพีวี (HPV) ลุกลามจนไม่สามารถจะรักษาได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50% ของจำนวนทั้งหมด
นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย อธิบายว่า หญิงไทยปัจจุบันมีความเข้าใจผิดเรื่องมะเร็งปากมดลูกกันมาก เช่น คิดว่ามีคู่นอนคนเดียว ก็ย่อมปลอดภัย หรือ เมื่อพบว่าญาติหรือพี่น้องไม่มีประวัติการป่วยมะเร็งฯ ตนก็ย่อมไม่มีโอกาสติดเชื้อแน่ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น ทุกอย่างคือความเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันเชื้อเอชพีวีพัฒนาตัวเองมากขึ้น ดังนั้น วิธีที่จะป้องกันได้ดีที่สุด คือ การเร่งตรวจคัดกรองและรับวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี
3 กลุ่มเสี่ยงหลักที่ต้องเร่งดำเนินการคัดกรอง คือ 1.กลุ่มหญิงที่แต่งงานแล้ว พบว่า แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับคนรักเพียงคนเดียวไม่มีพฤติกรรมสำส่อน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยก็ตาม ปัจจุบันพบว่าราว 50-80% ของสตรีกลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อได้ เพราะบางครั้งสภาพแวดล้อมอื่นๆ ก็เอื้อต่อการติดเชื้อได้ เช่น การได้รับเชื้อจากห้องน้ำสาธารณะ รถเมล์ รถไฟฟ้า สิ่งสกปรกที่ติดตามซอกเล็บ ฯลฯ ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อเอชพีวีทั้งสิ้น
2.กลุ่มที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงเด็ก-วัยรุ่น กลุ่มนี้พ่อแม่จะไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันโรคมากนัก เพราะเห็นว่าอายุยังน้อย ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่ป้องกันได้ดีที่สุด ซึ่งในต่างประเทศมีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เนื่องจากปัญหาสังคมปัจจุบัน พบว่า วัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น ยิ่งได้รับการฉีดวัคซีนเร็วเพียงใด ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย โดยแพทย์พบว่า การฉีดวัคซีนในวัยเด็ก ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกสามารถป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 80% และป้องกันนานถึง 9 ปี และแผนรณรงค์นี้สำเร็จ เชื่อว่า จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้มากเช่นกัน
และกลุ่มเสี่ยงสุดท้าย คือ ผู้หญิงวัยทำงานที่ยังไม่ได้แต่งงาน ที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง คิดว่า ตนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อีกทั้งยังเข้าใจว่า การใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ 100%
“หญิงวัยทำงานบางคนยังเข้าใจผิดไปว่า มะเร็งปากมดลูกอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัว หรือญาติไม่มีประวัติการป่วยก็ย่อมไม่มีโอกาสติดเชื้อแน่นอน ส่วนนี้เป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก” นพ.วิสิทธิ์ อธิบายเพิ่ม
เหตุผลที่หลายหน่วยงานต้องเร่งรณรงค์ให้สตรีไทยปรับเปลี่ยนความคิดแบบผิดๆ เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก และตรวจคัดกรองทุกๆ ปี เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้จะแสดงอาการช้า นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำวิธีการสังเกตอาการของโรค ว่า ในระยะเริ่มแรกจะพบว่า มีจุดหรือก้อนตรงปากมดลูก โดยอาจมีเลือดออกมาหลังเพศสัมพันธ์ บางรายลามถึงอาการตกเลือดทางช่องคลอด ออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น ถ้าเป็นมากเชื้อจะลุกลามออกไปด้านข้าง เช่น อุ้งเชิงกรานก็จะมีอาการปวดหลังได้ อาการระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามหรือไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ขาบวม ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ยุคนี้จึงจำเป็นต้องเร่งคัดกรองติดต่อกันประมาณปีละครั้ง ต่อเนื่อง 3 ปี