xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! เด็กต่ำกว่า 2 ปี เสี่ยงเป็นหูชั้นกลางอักเสบ อันตรายขั้นพิการ-เสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
แพทย์เตือนพ่อแม่ ระวังลูกป่วยหูชั้นกลางอักเสบหลังพบ 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีป่วย 1 ครั้ง  ชี้ กลุ่มอายุต่ำกว่า 2 ปี มีความเสี่ยงสูง เหตุภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน หากรักษาไม่ทันอาจเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อันตรายขั้นพิการ-เสียชีวิต

วันนี้ (22 เม.ย.) ศ.พญ.อุษา ทิสยากร   นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  กล่าวในงานแถลงข่าว “หูชั้นกลางอักเสบ ภัยเงียบสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) และเรียนรู้วิธีการป้องกัน เนื่องในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เป็นวันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก  (World Meningitis Day) ว่า  โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความพิการทางสติปัญญา และร่างกาย     เกิดการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเกิดได้จากการติดเชื้อหลายตัว ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสซึ่งพบได้มากที่สุด รองลงมาคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กลุ่มเสี่ยงสูงจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดเชื้อโรคบางส่วนยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เชื้อจึงมีโอกาสกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ได้มากกว่าเด็กโต หรือผู้ใหญ่ แม้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะไม่ได้พบบ่อยมากนักในประเทศไทย แต่จะมีอาการลุกลามโดยเร็วมากภายในเวลาแค่ 2-3 วันเท่านั้น

ศ.พญ.อุษา กล่าวว่า  เยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า โรคไอพีดี (IPD : Invasive Pneumococcal Disease) โดยเกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “นิวโมคอคคัส” เชื้อนิวโมคอคคัสนั้น มักพบอยู่ในในโพรงจมูกและลำคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่สามารถเป็นพาหะนำเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยการไอ หรือจามรดกัน  

ผศ.พญ.นันทิการ์  สันสุวรรณ ภาควิชาโสต สอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อาการเกิดขึ้นของหูชั้นกลางอักเสบนั้น พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยพบว่า 80% ของเด็กวัยนี้จะต้องเกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบสัก 1 ครั้ง ขณะที่เด็กบางคนก็จะเป็นซ้ำกัน 2-3 ครั้ง ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบมีราว 5% ที่เชื้อนิวโมลุกลามไปถึงขั้นป่วยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ดังนั้น การให้วัคซีนที่ปลอดภัย คือ ต้องฉีดภายในอายุแรกเกิดถึง 2 ปี โดยแพทย์จะนัดฉีดต่อเนื่องตามระยะเวลาที่เหมาะสม  เมื่อฉีดเข็มแรกแล้ว ให้เว้นช่วงเข็มถัดมาเป็น 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ

“เนื่องจากในเด็กเล็กนั้น เขาอาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสารของอาการป่วย โรคหูชั้นกลางอักเสบ ดังนั้นวิธีสังเกต คือ ให้ผู้ปกครองดูว่าเด็กชอบดึง จับ เกา และแกะหู หรือไม่  ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ จะมีผลทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการสื่อสารทางภาษา ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เพราะพื้นฐานการฟังจะเป็นทักษะเริ่มต้นของภาษาที่ดีในวัยเด็ก ดังนั้น หากพบอาการเหล่านี้ให้คาดเดาไว้ก่อนว่า อาจป่วยเป็นหูชั้นกลางอักเสบ  และให้รีบไปพบแพทย์ก่อนจะลามไปสู่ขั้นเรื้อรัง และก่อเกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบในที่สุด”ผศ.พญ.นันทิการ์   กล่าว

ผศ.พญ.นันทิการ์   กล่าวอีกว่า   ส่วนอันตรายของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่พิการก็เสียชีวิต แต่การสังเกตอาการเบื้องต้น คือ  ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย นอกจากนี้ ยังมีบางอาการแสดงที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ ไข้ ตาไวต่อแสง ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก อาจมีอาการซึม ชัก ไม่รู้สึกตัว และแขนขาอ่อนแรง ซึ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ อาการมักจะไม่ชัดแจน แพทย์จำเป็นต้องตรวจน้ำไขสันหลังในกรณีที่ไม่แน่ใจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป

ขณะที่ พญ.ปิยรัชต์  สันตะรัตติวงศ์  กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า  เชื้อนิวโมคอคคัส สามารถก่อโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ด้วย  เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม  และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยืนยันว่า โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยอัตราการเสียชีวิตนั้นสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี แพทย์สามารถรักษาโรคติดเชื้อไอพีดี ได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ แต่เนื่องจากในปัจจุบันพบเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น ทำให้เป็นปัญหาในการรักษา ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตหรือพิการทางสมองได้ ดังนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่ๆแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งสถานที่เลี้ยงเด็กด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่ลืมไม่ได้ คือ เมื่อเด็กเกิดควรให้ดื่มนมแม่ เพราะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น