xs
xsm
sm
md
lg

“กลยุทธ์” หยุดปัญหามีลูกยาก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างแบบจำลองการผสมเชื้อ
หากคุณไม่ใช่คนที่ติดหนึบกับชีวิตอิสระจนสุดโต่ง และต้องการสร้างครอบครัวอย่างสมบูรณ์ ภายหลังการแต่งงาน หญิงชายในยุคโมเดิร์น สมาชิกคงตัดสินใจมีเจ้าตัวเล็กสัก 1-2 คน มาเป็นพยานรักแน่นอน  แต่บางครั้งความปรารถนาที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคู่ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าเรื่อยๆ ย่อมมีทางออกสำหรับปัญหาเสมอ
               

 นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิงและรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก รพ.พญาไท กล่าวว่า ในทางจิตวิทยาแล้ว ลูก คือ ผู้ที่เป็นส่วนสำคัญในการสานสัมพันธ์ของพ่อแม่ให้แน่นแฟ้นขึ้น  และทำให้แต่ละครอบครัวมีช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับการทำกิจกรรมร่วมกันแบบสมบูรณ์ จึงไม่แปลกที่ชายหญิงซึ่งเผชิญภาวะมีบุตรยาก เลือกที่จะพึ่งพาการแพทย์เพื่อสนองตอบความต้องการ
    

หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิงฯ รพ.พญาไท รายนี้ ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า จากสถิติในช่วงปี 2552-2553 พบว่า  มีคู่สามี-ภรรยามาใช้บริการศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก (Fertility Center) ของ รพ.พญาไท ถึงเดือนละประมาณ   30 ราย แบ่งเป็นชาวไทย 20 ราย ชาวต่างชาติ 8-10 ราย  ซึ่งภาวะมีบุตรยาก ในที่นี้หมายถึง คู่รักที่ฝ่ายภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิด ในเวลา 1 ปี     
    
นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล
“สาเหตุของการมีบุตรยาก เกิดจากสภาพร่างกายของเพศชาย ราว 35-   40%   ได้แก่  การสร้างเชื้ออสุจิที่ผิดปกติ ทำให้ไม่มีเชื้อ หรือมีเชื้ออสุจิน้อย คือ ต่ำกว่า 10 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร  หรืออาจมีอสุจิที่รูปร่างผิดปกติมาก หรืออาจเคลื่อนไหวช้า อ่อนแอ  จึงไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้    บางคนมีการขนส่งเชื้ออสุจิผิดปกติ ทำให้เชื้ออสุจิไม่สามารถออกมาได้  การมีเพศสัมพันธ์และการหลั่งน้ำเชื้อผิดปกติ ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียดจากการทำงาน โรคประจำตัว สารเคมี การใช้ยารักษาความดัน เบาหวาน การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำเชื้อทั้งสิ้น”
    

ขณะที่สาเหตุจากฝ่ายหญิงราว 40%  นั้น นพ.ธิติกรณ์ อธิบายว่า มาจากความผิดปกติของการสร้างไข่ หรือการตกไข่  ความผิดปกติของอุ้งเชิงกราน และหลอดมดลูก ทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน และ/หรือหลอดมดลูกอุดตัน  ความผิดปกติของปากมดลูก และ มดลูก  ความผิดปกติของช่องคลอด  ปัจจัยอื่นๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ห่างเกินไป ความเครียด โรคประจำตัวทางร่างกายอื่นๆ  เช่น มะเร็งเป็นต้น  
    

  “ปัจจุบันวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำมากที่สุด ก็คือ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือเรียกสั้นๆ ว่า อีฟ (In Vitro Fertilization : IVF)  ซึ่งหากพบว่าเพศหญิงมีปัญหาเรื่องฮอร์โมนและไข่ตกช้า แพทย์จะเริ่มจากฉีดยากระตุ้นไข่ และเก็บน้ำเชื้อจากฝ่ายชาย  น้ำเชื้อผสมกับไข่เลี้ยงในห้อง ทดลอง 3-5 วัน แล้วย้ายตัวอ่อนที่สมบูรณ์เข้าสู่โพรงมดลูกของเพศหญิง เพื่อให้อายุครรภ์ดำเนินต่อไปเหมือนกับการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ”
    

แต่อย่างไรก็ตาม  นพ.ธิติกรณ์ ก็ยังทิ้งท้ายโดยสรุปว่า จริงๆ แล้วการทำเด็กหลอดแก้ว อาศัยเทคโนโลยีแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นเรื่องการใช้ชีวิตแบบปกติตามธรรมชาติอยู่ดี
    

“โดยหากการทำเด็กหลอดแก้วในครั้งแรกไม่ประสบผลสำเร็จ  แพทย์สามารถทำซ้ำได้อีกรายละ 3 รอบ โดยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะประสบผลสำเร็จในรอบที่ 2  ปัญหา คือ คู่รักมักตื่นเต้นกับการตั้งครรภ์ครั้งแรก โดยเฉพาะแม่ ซึ่งจะหวงครรภ์ของตัวเองมาก ต้องพยายามค้นหาอาหารเสริมมากินที่แตกต่างไปจากช่วงชีวิตปกติ หลายคนพึ่งพาอาหารเสริม ที่ราคาแพง  แต่จริงๆ แล้ว หากแม่มีการดูแลร่างกายดีอยู่แล้วกินอาหารครบ 5 หมู่ และนอนเป็นเวลา ก็เท่ากับว่า ลูกในครรภ์จะสมบูรณ์ไปด้วยโดยธรรมชาติ เพราะการท้องไม่ใช่ภาวะป่วยแต่เป็นเรื่องปกติ  จึงอยากฝากว่า อย่าพยายามกังวลกับการตั้งครรภ์มาก เพราะความเครียดจะทำร้ายร่างกายโดยแม่ไม่รู้ตัว ”
กำลังโหลดความคิดเห็น