xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยเหยื่ออุบัติเหตุจากรถพุ่ง 5,500 คนต่อปี แนะควรมีที่นั่งนิรภัยเฉพาะเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เผยเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นเหยื่ออุบัติเหตุจากรถพุ่งสูง 5,500 ราย สาหัส 1,400 ราย ตาย 70 รายต่อปี ขณะที่ “หมออดิศักดิ์” ชี้ เข็มขัดนิรภัย-ถุงลมนิรภัยไร้คุณภาพ แนะควรมีที่นั่งนิรภัยเฉพาะเด็ก

วันนี้ (7 เม.ย.) พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข ผู้แทนสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว เรื่อง “กรณีเด็กบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน” ที่จัดขึ้น ณ อาคารแพทยสภา โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมทางหลวง ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า แต่ละปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถยนต์ กว่า 5,500 ราย หรือ 15 คนต่อวัน เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องการการนอนพักรักษาตัว หรือสังเกตอาการในโรงพยาบาลประมาณ 1,400 คน และเสียชีวิต 70 คน และกรณีอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นเฉพาะช่วง 10 วันเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 9-19 เม.ย.พบว่า มีเด็กบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 1,100 ราย เสียชีวิตประมาณ 6 ราย ใน 132 ราย

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สถานการณ์ในต่างประเทศมีกฎหมายชัดเจนในการบังคับให้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อยึดเหนี่ยวเด็กไม่ให้เด็กบาดเจ็บ เมื่อเกิดรถชน รถเบรกรุนแรง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมในส่วนนี้ มีเพียง พ.ร.บ.จราจรที่กำหนดให้ที่นั่งข้างคนขับต้องมีเข็มขัดนิรภัย ซึ่งในความเป็นจริงเข็มขัดนิรภัยไม่เหมาะสมกับเด็ก และไม่สามารถใช้ป้องกันอันตรายต่อตัวเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบ หรือสูงไม่เกิน 140 ซม.ในทางกลับกันอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ เนื่องจากหากจะให้ปลอดภัยเข็มขัดนิรภัยจะต้องยึดเหนี่ยว 3 จุดสำคัญ คือ หัวไหล่ หน้าตัก และบริเวณเชิงกราน แต่ในเด็กเข็มขัดนิรภัยจะรัดที่บริเวณท้องน้อยและลำคอแทน หากรถเบรก หรือชน เข็มขัดจะรัดช่องท้องทำให้ตับ ม้ามแตก รัดลำคอและกระดูสันหลังกระเทือน อาจเป็นอัมพาตได้

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนถุงลมนิรภัยก็ไม่เหมาะสมกับเด็กเช่นกัน เนื่องจาก การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจะปลอดภัยเมื่อนั่งห่างจากถุงลมอย่างน้อย 25 ซม.แต่เด็กที่นั่งตักแม่จึงอยู่ห่างจากระยะระเบิดของถุงลมน้อยเกินไป ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี เสียชีวิตจากถุงลมในอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงกว่า 200 ราย เกิดจากการบาดเจ็บของสมองเป็นหลัก ดังนั้น เด็กจึงควรมีการเสริมที่นั่งนิรภัยเป็นการเฉพาะ โดยทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับทารก จัดวางที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางด้านหลังรถเพื่อลดโอกาสความเสี่ยงต่อการ เกิดกระดูกต้นคอหักจากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรกรุนแรง เด็กอายุ 1-3 ปี ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก หันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปกติ และใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น เด็กอายุ 4-7 ปี ใช้ที่นั่งเสริม ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยว และอยู่บริเวณเบาะหลังเท่านั้น เด็กอายุ 8-12 ปี ควรใช้ที่นั่งเสริมจนกว่าจะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี

พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร ผกก.3 กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กล่าวว่า สำหรับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต และบาดเจ็บรุนแรงมากกว่ารถยนต์ ประมาณ 6.5 เท่าตัว จากการตรวจสอบพบว่า หมวกนิรภัยเด็กบางยี่ห้อยังมีคุณภาพต่ำ แม้ว่าได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการกระแทกของสมองได้
กำลังโหลดความคิดเห็น