xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเล็งเอาผิดหมอ แพร่ข้อมูล โพเพทัส รักษาทุกโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แพทยสภา” ไม่พบ ชื่อ “หมอแกน” เจ้าของทฤษฎีโพเพทัส ในทะเบียนสมาชิกแพทย์ ยันไม่ใช่หมอ เล็งแจ้งความเอาผิด เหตุอ้างว่าเป็นหมอ ด้าน อย.ชี้ “น้ำโพเพทัส” เป็นแค่น้ำผลไม้ผลไม้ปั่นรวม ไม่มีในบัญชียา

วันนี้ (4 เม.ย.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีมีการเผยแพร่วิธีการรักษาโรคด้วย ทฤษฎีโพเพทัส (Popatus) และการเผยแพร่ขอ้มูลเรื่องน้ำโพเพทัสว่า จริงๆแล้วร่างกายของเราจะต้องมีน้ำถึง 80 % ซึ่งถ้ามีน้ำไปหล่อเลี้ยงมากพอจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี หรือเห็นได้ชัด คือ คนที่ดื่มน้ำเปล่ามากๆก็จะมีสุขภาพที่ดีไปด้วย ซึ่งเข้าใจว่าหากมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นก็อาจมีผลให้โมเลกุลของน้ำเรียงตัวได้แล้วพอเราดื่มไปมากๆ ก็จะรับประโยชน์ได้ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูลนี้ ทั้งเรื่องทฤษฎี เรื่องน้ำโพเพทัส ทั้งสองอย่างก็ยังไม่มีรายงานทางวิชาการว่ารักษาได้และยังไม่มีตัวอย่างชัดเจนว่า สามารถช่วยรักษาโรคได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรอพิสูจน์ สำหรับกรณีน้ำโพเพทัส ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบก่อน

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบหนังสือโพเพทัส การรักษาเหนือธรรมชาติ พบว่าผู้ที่อ้างตัวเป็นเจ้าของทฤษฎีนี้ ใช้ชื่อว่า หมอแกน ธนธัช ต่อบุญสิทธิกร และเป็นเจ้าของผลงานเขียนมาแล้ว 6 เล่ม ได้แก่ โพเพทัส ทฤษฎีต่างกาแล็คซี่ "แหกกฎธรรมชาติ" ,โพเพทัส "การรักษาเหนือธรรมชาติ" , ทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแกน "แนวทางการป้องกันและรักษาโรคโดยไม่พึ่งยา" ,พลังจิตควบคุมอารมณ์ ความคิด นิสัย ,พลังจิตบำบัดรักษาโรค และฝึกพลังจิต เพื่อการหยั่งรู้และการรักษา

นพ.สมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อสมาชิกแพทยสภาไม่พบชื่อของนายธนธัช ต่อบุญสิทธิกรเป็นสมาชิกแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่านายธนธัชไม่ได้เป็นแพทย์ การแอบอ้างตัวเป็นหมอแม้จะไม่ได้ใช้คำนำหน้าชื่อว่านายแพทย์ แต่หากมีการกระทำที่ทำให้ประชาชนเข้าในได้ว่าเป็นนายแพทย์ก็ถือว่ามีความผิด เข้าข่ายแอบอ้างความเป็นแพทย์ มีความผิดตามมาตรา 26 พรบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยแพทยสภาจะดำเนินการติดตามบุคคลผู้นี้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ อยู่ที่ใด รวมถึงจะแจ้งความเอาผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่แอบอ้างความเป็นหมอด้วย ทั้งนี้ ขอพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

“วิธีการที่มีการอวดอ้างตามทฤษฎีนั้น ยังไม่เป็นการรักษาที่เป็นที่ยอมรับว่าได้มาตรฐาน โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้แอบอ้างแนวทางการรักษาต่างๆที่เป็นไปในลักษณะมั่วจำนวนเยอะมาก เพื่อหวังผลทางธุรกิจ ทั้งที่ไม่มีรายงานทางวิชาการเป็นข้อพิสูจน์ว่าได้ผลจริงหรือไม่ มีผลข้างเคียงหรือไม่ ทั้งนี้ขอย้ำว่าทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นการรักษาที่มีมาตรฐาน” นพ.สัมพันธ์กล่าว

ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลาขาธิการ อย.กล่าวว่า เรื่องนี้ อย.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มียาหรืออาหารเสริมใด ขึ้นทะเบียนไว้ในชื่อน้ำโพเพทัสเลย ดังนั้น สิ่งที่ อย.ต้องเดินหน้าตรวจสอบต่อไป คือ การหาตัวผลิตภัณฑ์มาพิสูจน์ต่อไป ว่า มีการแจก จ่าย จำหน่าย หรือกระจายอยู่หรือไม่ และหากมีจริงมีการอวดอ้างสรรพคุณอย่างไรบ้าง เนื่องจากเบื้องต้นได้ตรวจสอบเว็บไซต์แล้วพบว่า ส่วนมากเผยแพร่ในลักษณะของชุดความรู้(Know how) ซึ่งอาจไม่มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายก็ได้ แต่ทั้งนี้หากพบว่า มีผลิตภัณฑ์อยู่จริง และมีการจำหน่าย ลด แลก แจก หรือแถมก็ต้องดูลงลึกในรายละเอียดของสรรพคุณว่า มีการให้ข้อมูลอย่างไรบ้าง แล้วมีการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ โดยอาจประสานความร่วมมือกับกรพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เพื่อตรวจสอบร่วมด้วย

“อย่างไรก็ตาม อย.จำเป็นต้องสืบหาตัวผลิตภัณฑ์ให้ได้ก่อนว่า มีจริงหรือเปล่า แต่ในส่วนของชื่อน้ำผลไม้นั้น ยืนยันว่าไม่มีขึ้นทะเบียนไว้ ทั้งนี้จากการสังเกตข้อมูลผ่านเว็บไซต์ พบว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลประโยชน์จากน้ำผลไม้ปั่น โดยทั่วไปการดื่มน้ำผลไม้ หรือผักไม่ว่าจะประเภทใดอาจมีส่วนป้องกันโรคได้ แต่คงไม่สามารถรักษาโรคได้สารพัดแน่ๆ เพื่อความแม่นยำของข้อมูลจะต้องหาหลักฐานมายืนยัน ให้ได้ หากพบว่าอ้าง ข้อมูลผิดๆ ก็โฆษณาเกินจริง จะเข้าข่ายทำผิด พ.ร.บ.ยา ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ” นพ.พิพัฒน์ กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่อยากให้ผู้บริโภคหลงเชื่อข้อมูลที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ยืนยัน เพราะขณะเรื่องของการโฆษณาอาหารและยา ในสรรพคุณเกินจริงมีอยู่มาก แม้กระทั่งยาหรืออาหารบางอย่างที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วเรายังเคยพบว่า มีผู้ประกอบการบางรายอ้างสรรพคุณเกินกว่าที่แจ้งไว้ในระหว่างการขึ้นทะเบียนก็มี ซึ่งในความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะการจะปรับปรุง เพิ่ม ลด สรรพคุณยาทุกชนิดต้องแจ้งให้ฝ่ายทะเบียนทราบ และโฆษณาได้ตามความจริงเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น