xs
xsm
sm
md
lg

เล็งพัฒนาไม้เท้าเลเซอร์ แจกผู้ป่วยพาร์กินสัน เข้าไม่ถึงยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝึกเดินด้วยไม้เท้าเลเซอร์
“หมอจุฬาฯ” ชี้ ผู้ป่วยพาร์กินสันเกือบ 70% เข้าไม่ถึงยา เหตุจากสารเคมี ทำพิษเป็นตัวเร่งป่วยเพิ่มขึ้นได้ เตรียมพัฒนาไม้เท้าเลเซอร์แจกผู้ป่วย กระตุ้นการเดิน เผยเป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพฯอนุเคราะห์

รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์รักษาโรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยตัวโรคจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวลงไปเรื่อยๆ จะเริ่มจากมือสั่น เวลาอยู่เฉยๆ และลามไปที่เท้า จนเริ่มกลืนลำบาก หายใจยาก และจะทรุดลงเรื่อยๆ คือ เคลื่อนไหวได้ช้าลง สั่น เกร็งมากขึ้น จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังเข้าถึงยาได้ยาก เพราะยามีราคาแพง ทำให้อาการแย่ลงจนรักษาได้ยาก ทั้งนี้ โรคพาร์กินสันเกิดจาก การที่สารโดปามีนในสมองลดลง จึงจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อเพิ่มสารโดปามีนในสมอง โดยรับประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยลดอาการเกร็ง และเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่ามียาหลายชนิดตั้งแต่ราคาเม็ดละ 6 บาท จนถึง 100 บาท ซึ่งปัญหาขณะนี้คือ หลายโรงพยาบาลยังไม่สามารถสั่งยาให้ผู้ป่วยได้ และมียาเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในบัญชียาหลัก ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เกือบ 70% ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษาและมีอาการเข้าสู่ระยะท้าย

รศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของโรคพาร์กินสัน พบว่า 1.เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น 2. พันธุกรรมซึ่งทำให้พบผู้ป่วยในอายุน้อยได้ ที่ผ่านมาเคยพบผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดอายุเพียง 20 ปี 3.ศีรษะถูกกระแทกและกระทบกระเทือนบ่อยๆ ซึ่งได้เก็บตัวอย่างในกลุ่มนักมวย พบว่า นักมวยที่มีจำนวนการชกเกิน 100 ยก จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสันได้มากกว่า 4.สารเคมี โดยล่าสุดจากการสำรวจพบว่า ความชุกในการเกิดโรคพาร์กินสัน ในประชากรไทย อยู่ในภาคกลาง มากที่สุด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา โดยมีผู้ป่วยเกิน 200 คนต่อประชากรแสนคน เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดโรคทั้งประเทศอยู่ที่ 110 คนต่อประชากรแสนคนเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีความเชื่อมโยงกับปริมาณการใช้สารเคมี เพราะยังไม่มีการตรวจร่างกายและเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจอย่างละเอียด แต่เป็นข้อสันนิษฐาน เนื่องจากในสหรัฐอเมริกา พบว่า ฟาร์มที่ใช้ยาฆ่าแมลง 230 เหรียญสหรัฐฯต่อปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดพาร์กินสันได้

หัวหน้าศูนย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ มีโครงการพัฒนาไม้เท้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ พัฒนาไม้เท้าเพื่อช่วยกระตุ้นการเดินเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว โดยล่าสุด ได้ติดกล่องเลเซอร์บนหัวไม้เท้า และติดเซ็นเซอร์ที่ปลายไม้ เพื่อยิงแสงเลเซอร์เป็นเส้นที่พื้นเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิขาเทียมในการผลิต ต้นทุนอยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจำเป็นต้องได้รับยา พร้อมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้อาการทุเลาลง

“โครงการดังกล่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความอนุเคราะห์ และทรงสนพระทัยเป็นอย่างมาก จึงมีการจัดตั้งกองทุน “ไม้เท้าพาร์กินสันพระราชทาน” เปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อขอรับไม้เท้าตั้งแต่ มิ.ย.53 เป็นต้นมา มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 40,049 คน ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ลงทะเบียนจะเป็นผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการระหว่าง 2-5 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่อาการเริ่มแย่ลง เคลื่อนไหวได้ช้าลง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับพระราชทานไม้เท้าในเดือน มิ.ย.54 นี้” หัวหน้าศูนย์กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการร่วมสมทบทุนเพื่อผลิตไม้เท้าให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง ชื่อบัญชี กองทุนโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ เลขที่บัญชี 103-1-33090-9 (สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใบเสร็จรับเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี) หรือ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-2-88000-6 (สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี) หรือ โครงการศูนย์นวัตกรรมโรคพาร์กินสันเลขที่ 430-0166 หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์รักษาโรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร.02-256-4630
กำลังโหลดความคิดเห็น