xs
xsm
sm
md
lg

อย.สั่งปรับฉลากแสดงค่าสารอาหาร ดีเดย์กลางปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.เล็งปรับฉลากโภชนาการจากตาราง เป็น GDA แสดงค่าสารอาหาร “พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม” คาดประกาศใช้กลางปีนี้ ด้านเครือข่ายสุขภาพฯ ยันใช้สัญญาณจราจร เข้าใจง่ายกว่า

วันนี้ (1 เม.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) ที่ รร.มิราเคิลแกรนด์ กทม. จากนโยบายลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ต้องการเห็นผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กไทยมีสุขภาพที่ดีด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และต้องการให้โรคอ้วนหมดไปจากคนไทย อย.จึงมีการพิจารณาในการปรับปรุงฉลากโภชนาการ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นในเรื่องของปริมาณสารอาหารที่ได้รับต่อการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละชนิด ขณะนี้ อย.จึงได้ทำการแก้ไขปรับปรุงการแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด โดยเพิ่มการแสดงรูปแบบฉลากโภชนาการอย่างง่าย จากเดิมมีเพียงกรอบตารางแสดงฉลากข้างหลังซองบรรจุของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ครั้งนี้ได้ปรับเป็นการแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในรูปแบบ GDA หรือ Guideline Daily Amounts

นพ.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า การแสดงฉลากในรูปของ GDA นั้นได้กำหนดให้อยู่ในรูปทรงกระบอก 4 อัน เรียงติดต่อกัน การแสดงสีของพื้นภายในรูปทรงกระบอกจะต้องเป็นสีขาวเท่านั้น และสีของข้อความในรูปทรงกระบอกจะต้องเป็นสีดำ สีน้ำเงินเข้มเท่านั้นแล้วแต่กรณี และต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก และให้แสดงค่าต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ตามลำดับที่ส่วนบนของรูปทรงกระบอก โดยกำหนดให้แสดงฉลากดังกล่าวในผลิตภัณฑ์อาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยการแสดงค่านั้นต้องระบุว่า ในผลิตภัณฑ์ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์ หรือ 1 ซองมีค่าปริมาณของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เป็นเท่าใดต่อปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน เช่น พลังงานไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 กิโลแคลอรี่

“สำหรับร่างประกาศกระทรวงฉบับนี้จะมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการอาหารของ อย.ในวันที่ 7 เมษายนนี้ พิจารณาปรับปรุงก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในกลางปี 2554

“เรื่องของการใช้สีสัญญาณนั้น อาจจะต้องใช้แต่ ยังไม่ถึงเวลา เพราะสิ่งสำคัญควรปูพื้นฐานเรื่องความรู้เกี่ยวกับฉลากโภชนาการ และคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคก่อน เพื่อให้สังคมตระหนัก ส่วนการปรับเปลี่ยนเป็นฉลากสัญญาณไฟจราจร เชื่อว่าจะต้องมีการพิจารณาและสามารถใช้ได้จริงในภายหลัง ซึ่งตนไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่ต้องรอเวลา” นพ.พิพัฒน์กล่าว

นายพิเชฐ อิฐกอ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า สัญญาณไฟจราจรที่ทางภาคประชาชนสนับสนุนให้ใช้นั้น ยังมีความคลุมเครือและไม่ได้สื่อความหมายที่ชัดเจน เนื่องจากหากเป็นสีแดง จะมีความหมายห้าม ซึ่งไม่ได้บอกว่าสารอาหารมากเกินกำหนดหรือไม่ ซึ่งจริงๆ อาจเล็กน้อยไม่ถึงกับต้องห้าม โดยสามารถบริโภคได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับยอดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์อาหารแต่อย่างใด เพราะฉลากโภชนาการนั้นเป็นการเน้นเรื่องการใส่ใจสุขภาพมากกว่ามุ่งด้านการตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการเปิดประชุมครั้งนี้ มีเครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารแบบสีสัญญาณประมาณ 15 คน นำโดย นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ประธานเครือข่ายฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึงเลขาธิการ อย. เพื่อขอให้สนับสนุนมาตรการฉลากโภชนาการสีสัญญาณ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2(2552) ที่ให้ควบคุมเรื่องโรคอ้วน และน้ำหนักเกิน โดยควรมีฉลากโภชนาการแสดงข้อมูลที่เข้าใจง่าย ทั้งนี้ นพ.ทักษพล กล่าวว่า สำหรับฉลากแบบสีสัญญาณมีจุดแข็งกว่า GDA ตรงที่น้ำหนักของการสร้างผลการตระหนักรู้ ซึ่งชัดเจนและส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ ขณะที่ GDA ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก การเพิ่มเข้ามายังเข้าใจยากเหมือนเดิม

“ยืนยันว่าฉลากแบบสีสัญญาณมีการให้ความรู้ครอบคลุมทั้งพลังงาน สารอาหาร เบื้องต้นครอบคลุมอาหารส 4 ประเภท ได้แก่ น้ำตาล ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโซเดียม ซึ่งละเอียดกว่าแบบ GDA จึงไม่เข้าใจว่าทำไม อย.จึงไม่ปรับเปลี่ยนให้เป็นฉลากสีสัญญาณ ทั้งๆที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการรับรู้มากกว่า และในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมันก็สนับสนุนและใช้มาตรการลักษณะนี้อยู่แล้ว” นพ.ทักษพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น