xs
xsm
sm
md
lg

ร้องนายกฯหนุนจัดเรตติ้งฉลากขนมแบบสัญญาณไฟจราจรกันเด็กอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารแบบสีสัญญาณ ผนึกกำลังเด็ก-ผู้ปกครอง 1,128 ราย ยื่นหนังสือนายกฯ-รมว.สาธารณสุข หนุนจัดเรตติ้งฉลากขนมตามสัญญาณไฟจราจร ชี้ ผู้บริโภค 90% ต้องการฉลากเข้าใจง่าย พบขนมในท้องตลาด ปริมาณไขมันติดสัญญาณแดงเพียบ เชื่อติดสัญญาณไฟ เทียบฉลากเบอร์ 5 ช่วยผู้ผลิตป้อนฉลากสีเขียวมากขึ้น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารแบบสีสัญญาณ ประกอบด้วย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน โครงการพัฒนาระบบและกลไก เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะอ้วนลงพุงของคนไทย และสนับสนุนมาตรการฉลากอาหารแบบสีสัญญาณ พร้อมกับยื่นรายชื่อผู้สนับสนุน จำนวน 1,128 คน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า เนื่องจากเด็กไทยกำลังเผชิญกับภาวะอ้วน จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชน ระหว่างปี 2551-2552 พบว่า เด็กไทยอายุ 1-14 ปี มีจำนวน 540,000 คน หรือคิดเป็น 5% อยู่ในภาวะอ้วน ส่งผลทำให้เด็กไทยจำนวน 135,000 คน เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2552 ที่กำหนดให้มีการใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหาร ที่มีไขมัน หรือน้ำตาล และโซเดียม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนเพื่อการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน จึงได้ศึกษาทบทวนพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกซื้ออาหาร พร้อมกับพัฒนามาตรการฉลากสีสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการจากข้อมูลของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 90% ของผู้บริโภคต้องการฉลากที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย และ 64% ของผู้บริโภคต้องการฉลากสัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจร ซึ่งเข้าใจมากกว่าฉลากแบบตัวเลข เพราะไม่สามารถทราบได้ว่า เป็นปริมาณมากหรือน้อยที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

จากการพัฒนาฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรบนซองขนมที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่า ขนมส่วนใหญ่ถึง 80% มีปริมาณไขมัน ในระดับสีแดง ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่าใน 1 มื้อ โดยมันฝรั่งทอดปรุงรส ข้าวเกรียบ และขนมปังสอดไส้ มีสัญญาณสีแดงมากที่สุด อย่างไรก็ตามมีบางผลิตภัณฑ์ที่ได้สัญลักษณ์สีเขียว และเหลืองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีน้ำตาล ไขมัน และเกลือ ที่อยู่ในปริมาณพอเหมาะ ทั้งนี้การติดฉลากสัญญาณไฟจราจร จะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้เข้าใจมากกว่าการให้ข้อมูลเพียงตัวเลขอย่างเดียว” นพ.ทักษพล กล่าว

น.ส.เกณิกา พงษ์วิรัช หัวหน้าโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังภัยรอบโรงเรียน กล่าวว่า ขอสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนของเด็กไทย ด้วยการลดหวาน มัน เค็ม ในอาหารและขนม ซึ่งเชื่อว่าการติดฉลากสีสัญญาณไฟจราจร จะช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยจะเลือกบริโภคที่มีสัญลักษณ์สีเขียว คือ มีปริมาณที่พอเหมาะต่อสุขภาพ เหมือนกับการติดฉลากเบอร์ 5 บนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟของ กฟผ.ทำให้ผู้ผลิตหันมาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และส่งผลต่อการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศ ซึ่งการติดฉลากอาหารโดยใช้สีสัญญาณไฟจราจรเชื่อว่าจะทำให้เกิดการหันมาติดฉลากสีเขียวมากขึ้น ด้วยการลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น