xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยคนไทยเป็นธาลัสซีเมียกว่า 6 แสนคน เป็นพาหะกว่า 24 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข
สธ.เผยคนไทยเป็นโรคธาลัสซีเมีย กว่า 6 แสนคน เป็นพาหะกว่า 24 ล้านคน เด็กเกิดใหม่ป่วย 12,000 คนต่อปี รัฐจ่ายปีละไม่ต่ำกว่า 6 พันล้าน แนะ สามี-ภรรยา ตรวจเลือดก่อนมีลูก

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คนไทยป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียกว่า 6 แสนคน เป็นพาหะกว่า 24 ล้านคน แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยประมาณ 12,000 ราย รัฐต้องเสียค่ารักษาปีละไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท โดยโรคนี้สามารถควบคุมป้องกันได้โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้แก่ประชาชน สามี-ภรรยาตรวจเลือดก่อนมีบุตร และการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์มารดา ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ และการรายงานผลที่รวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญในควบคุมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกันตั้งแต่มีโลหิตจางเล็กน้อย โลหิตจางมาก ไปจนถึงอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาหรือหลังคลอดไม่นาน

ส่วนผู้ที่ไม่เป็นโรค หรือที่เรียกว่า เป็นพาหะจะมีสุขภาพแข็งแรง เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้ ในประเทศไทยพบพาหะธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 30-40 ของประชากร หรือประมาณ 18-24 ล้านคน และมีผู้ป่วยโดยรวมประมาณ 6 แสนคน ในแต่ละปีประเทศไทยมีมารดาที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 50,000 ราย และมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 12,000 ราย

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่ออีกว่า โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก และต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย การรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ทำให้ผู้ปกครองต้องสิ้นเปลืองเงินทองในการรักษาพยาบาล และสูญเสียเวลาในการดูแลบุตร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณ ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยปีละไม่น้อยกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท ดังนั้น การควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางสาธารณสุข คู่สมรสต้องวางแผนครอบครัว วางแผนการมีบุตรด้วยการตรวจเลือด

นายแพทย์ สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่พบบ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ โรคฮีโมโกลบินบาร์ทไฮดรอพส์ฟิทัลลิส โรคโฮโมซัยกัสเบต้าธาลัสซีเมีย และโรคเบต้าธาลัสซีเมียฮีโบโกลบินอี ซึ่งโรคธาลัสซีเมียทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงแตกต่างกัน บางรายมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น การดำเนินงานควบคุม และป้องกันโรคธาลัสซีเมียอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ 3 ระดับ คือ การตรวจคัดกรอง การตรวจยืนยัน และการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอด โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะต้องมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ และการายงานผลที่รวดเร็ว ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดการประชุมห้องปฏิบัติการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ Change and Chance : การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าและโอกาสพัฒนาที่ก้าวไกล ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2554 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ทางห้องปฏิบัติการตามคู่มือทางห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย และฮีโมโกลบินผิดปกติ ซึ่งเป็นคู่มือทางห้องปฏิบัติการเล่มแรกของประเทศไทยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

นายแพทย์ สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมีย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรวรรณ ตันไพจิตร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บรรยายพิเศษ เรื่อง “การตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย : การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าและโอกาส พัฒนาที่ก้าวไกล” รวมถึงการบรรยายทางวิชาการจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีการโชว์ชุดทดสอบ ธาลัสซีเมียซึ่งเป็นนวัตกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ค้นคว้าวิจัยขึ้นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ ในวันที่ 25 มีนาคม 2554 ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เกียรติมอบนโยบายการพัฒนาห้องปฏิบัติการและเครือข่าย สำหรับควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียของประเทศไทย พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่ห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 26 แห่ง ที่มีผลการทดสอบความชำนาญด้านการตรวจวินิจฉัย α - thalassemia 1 ระดับดีมากอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น