xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เพิ่มสิทธิปลูกถ่ายหัวใจ ยันเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช.เพิ่มสิทธิ ปลูกถ่ายหัวใจ ในระบบรักษาฟรี ยันเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก เพราะผู้ป่วยน้อย จ่ายแค่รายละ 2.4 ล้านบาท

วันนี้ (14 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นายจุรินทร์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การให้บริการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากการปลูกถ่ายหัวใจเป็นวิธีการรักษาภาวะหัวใจวาย แต่เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก สำหรับประชาชนอาจทำให้ล้มละลายจากการเจ็บป่วยได้ และเป็นเหตุให้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมในประเทศ จะพบว่าภาระงบประมาณโดยรวมไม่สูงมาก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยน้อย ดังนั้นการเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เพิ่มภาระงบให้กับประเทศ

นพ.วสันต์ สุเมธกุล นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปลูกถ่ายหัวใจในประเทศไทย เริ่มปี 2530 มีโรงพยาบาลที่ให้บริการ 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ ศิริราช และสถาบันโรคทรวงอก ส่วนจำนวนผู้ป่วยและค่ารักษานั้น พบว่าในจำนวนผู้ป่วยหัวใจวายขั้นรุนแรง 10,000 ราย จะเป็นผู้ป่วยที่ควรได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ 300-500 ราย ซึ่งศักยภาพของโรงพยาบาลต่างๆ สามารถรองรับได้ 40-50 รายต่อปี แต่มีจำนวนอวัยวะที่ดีสำหรับการปลูกถ่ายหัวใจเพียง 20-30 รายเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ขณะที่ค่ารักษานั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อ 1 คน ประมาณ 380,000 บาท หลังจากนั้น จะมีค่าใช้จ่ายเป็นรายปี คือ ในปีแรก อยู่ที่ 330,000 บาท ปีที่สอง 240,000 บาท และปีที่สามเป็นต้นไปปีละ 180,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณค่าใช้จ่าย 10 ปี ต่อผู้ป่วย 1 รายจะอยู่ที่ 2.4 ล้านบาท เมื่อคำนวณจำนวนผู้ป่วยสะสมและภาระงบ 10 ปี ในระบบหลักประกันสุขภาพนั้นจะพบว่า เมื่อคำนวณจากฐานผู้ป่วยบัตรทองที่จะได้รับการปลูกถ่ายหัวใจมากที่สุด 30 รายต่อปีในปีแรก จนถึงปีที่ 10 จะมีผู้ป่วยสะสม 208 ราย ส่วนงบในปีแรกจะใช้ 11.25 ล้านบาท จนถึงปีที่ 10 มีงบ 351.21 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน และตามหลักการประกันสุขภาพแล้วถือว่ามีความคุ้มค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น