xs
xsm
sm
md
lg

คกก.สมานฉันท์แรงงานฯ ชุมนุมหน้าสภาเสนอ 5 ข้อปฏิรูป ปกส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย” ชุมนุมหน้าสภา ร้องคณะกรรมาธิการประกันสังคม นำ 5 ข้อเสนอในการปฏิรูปประกันสังคมไปยังรัฐบาล

ที่รัฐสภาเมื่อเวลา 10.00 น.กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กว่า 200 คน นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการ ได้ชุมนุมหน้ารัฐสภา โดย นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ พ.ศ...) ที่ประชุมไปแล้ว 6 ครั้ง แต่ยังขาดจุดยืนและข้อเสนอในการปฏิรูประบบประกันสังคม อันจะนำไปสู่การประกันสังคมถ้วนหน้าที่มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีความเห็น 5 ข้อ คือ
 

1.คณะกรรมาธิการบางส่วนยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายประกันสังคม รวมทั้งความเข้าใจมิติต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน และงานด้านสวัสดิการสังคม ดังนั้น จึงมักจะรับฟังข้อเสนอหน่วยงานของรัฐ จากสำนักงานประกันสังคม และสำนักงานกฤษฎีกาเป็นหลัก 2.กระบวนการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมธิการไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลแถลงไว้ 3.คณะกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร 4.คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการพิจารณาไปแล้ว 25 มาตรา จากทั้งหมด 46 มาตรา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้มีการพิจารณาอย่างรวดเร็วรวบรัด เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านก่อนยุบสภา

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่า หัวใจของการปฏิรูประบบประกันสังคม คือ การบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ยังขาดหลักประกันว่าจะเกิดขึ้น จึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการนำจุดยืน และข้อเสนอในการปฏิรูปประกันสังคม 5 ประการ คือ 1.ประกันสังคมต้องการเป็นองค์กรอิสระ 2.ต้องมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ 3.หนึ่งคนหนึ่งเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม 4.บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และ 5.ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน

ด้านนางผุสดี ตามไท ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม กล่าวภายหลังจากการรับหนังยื่นข้อเสนอจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานว่า อยากให้เข้าใจว่าการแก้ไขข้อกฎหมายนั้นมีข้อจำกัด อาจไม่ได้ดั่งใจไปหมดทุกอย่าง อยากให้ผู้ใช้แรงงานเข้าใจ ขณะนี้เรากำลังพยายามผลักดันข้อเสนอนี้ออกไปให้เร็วที่สุด ซึ่งคิดว่าหากจะทำตามข้อเสนอที่ขอมาให้เสร็จก่อนการยุบสภานั้น จะทำได้ประมาณร้อยละ 50-60 เท่านั้น เพราะที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาหลายครั้ง เราก็หยุดฟังทุกครั้ง ทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้า โดย ส่วนตัวคิดว่ามีอยู่สองทางคือ ยอมรับการแก้ไขกฎหมายที่อาจไม่ครบตามข้อเสนอและไปผลักดันเพิ่มเติมเมื่อได้ รัฐบาลชุดใหม่แล้ว หรือหากไม่ยอมรับการพิจารณาก็คงต้องใช้ข้อกฎหมายเดิม และไปยื่นข้อเสนอทั้งหมดใหม่อีกครั้งกับรัฐบาลชุดใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น