ภาครัฐผนึกภาคีงดเหล้าทั่วประเทศ ประกาศเจตนารมณ์ “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” เข้มบังคับใช้ พ.ร.บ.คุม หลังสถิติเมาแล้วขับสูง 361 ศพ ทำเศรษฐกิจพัง 5.4 ล้านบาทต่อคน พร้อมเรียกร้องธุรกิจเหล้ารับผิดชอบชีวิตคนไทย อย่าอาศัยช่วงเทศกาลขายของ ขณะที่ สคล.ปลื้มกว่า 40 จังหวัดตระหนัก สร้างสรรค์พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เตรียมขยายครอบคลุมทั่วประเทศ
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่โรงแรมโกเดนท์ ทิวลิป กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.00 น. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชนมชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” ประจำปี 2554 โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย กว่า 300 คน ทั้งนี้ประธานได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ในงานประเพณีสงกรานต์ปลอดเหล้า ประจำปี 2554 กว่า 17 จังหวัด
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นช่วงอันตราย เพราะอุบัติเหตุจากการเดินทางและการเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความสูญเสีย การขาดสติ และนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีและในวันที่ 20 เม.ย. 2553 มีมติให้สนับสนุนข้อเสนอ การห้ามดื่มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำสาธารณะ รณรงค์เล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย เพื่อลดความสูญเสีย ปกป้องเด็กเยาวชน และวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่
ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย คือ 1.ร่วมกันประกาศเป็นนโยบายในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และสร้างเสริมสุขภาพที่ดี 2.ไม่สนับสนุนให้บริษัทเหล้าเบียร์บุหรี่ ทำการโฆษณาสินค้าหรือทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายในพื้นที่ จัดงานประเพณีสงกรานต์ 3.ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 และ 4.ร่วมกันรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างถูกวิธี ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัย
นายชนมชื่น กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลอยู่ คือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงให้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานและเชื่อมโยงงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้นเพื่อลดปัญหาต่างๆในช่วงสงกรานต์ เพราะที่ผ่านมาการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นลักษณะเดิม คือ 40% มาจากเมาแล้วขับ รองลงมาคือ ขับเร็ว 20% นอกจากนี้ การเกิดอุบัติเหตุกับกลุ่มมอเตอร์ไซค์ ยังพบว่า มีมากถึง 80% อุบัติเหตุส่วนใหญ่ 61% เป็นช่วงกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงเย็นและช่วงค่ำ 32% และอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตน้อยกว่า 20 ปี มากถึง 30%
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตอนนี้พฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเล่นน้ำ ทำให้สงกรานต์ปีที่ผ่านมา มียอดผู้เสียชีวิตมากถึง 361 ราย ซึ่งจากการศึกษาของกระทรวงคมนาคม พบว่า มีต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 5.4 ล้านบาทต่อราย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย รวมถึงรณรงค์ให้ทราบถึง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ด้วย
ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในเขต กทม.เกี่ยวกับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา พบว่า 87.8% อยากให้สนับสนุนเขตเล่นน้ำสงกรานต์สนุกสนาน ปลอดภัย โดยระบุว่า อยากได้พื้นที่สนุกสนาน ปลอดภัย คือไม่มีคนเมา ไม่มีการลวนลาม อนาจาร ไคโยตี้ ไม่มีความรุนแรงใดๆ ทั้งนี้ 61.2% ยังเห็นว่า หน้าบ้านตัวเองเป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยที่สุด อีกทั้งสงกรานต์ปีนี้มีหลายพื้นที่จัดโซนนิง ให้เป็นพื้นที่เล่นสงกรานต์ และห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป โดยขยายเพิ่มขึ้นกว่า 40 พื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ขอนแก่น เพชรบูรณ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ลดความรุนแรง อนาจาร และอุบัติเหตุลงได้
“ยอมรับว่า การรณรงค์เพื่อให้ช่วงสงกรานต์ปลอดจากเหล้าเบียร์และปัจจัยต่างๆไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก เนื่องจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังใช้โอกาสนี้ส่งเสริมการขายโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของคนไทยจำนวนมากที่ต้องตาย และพิการ ทุกเทศกาล และเจ้าภาพจัดงานเองยังละเลยปล่อยให้มีการดื่มการขายภายในงาน รวมถึงมีการขายในสถานที่ห้ามขาย ข่ายในช่วงเวลาที่ห้ามจำหน่าย การดื่มเหล้าแล้วเล่นน้ำท้ายรถกระบะ ดังนั้นเทศกาลที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ คงต้องสร้างวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยไม่พึ่งแอลกอฮอล์ก็สนุกได้ ที่สำคัญ ไม่ทำให้สงกรานต์กลายเป็นการสาดเลือดแทนการสาดน้ำ” ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าว